xs
xsm
sm
md
lg

เรียนสายอาชีพไม่ต้องกลัวตกงาน รายได้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การผลิตนักศึกษาอาชีวะในปัจจุบันนี้ จะเน้นคุณภาพเพื่อสนองความต้องการของสถานประกอบการ นั่นหมายถึงคุณภาพของนักศึกษาเมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้วสามารถปฏิบัติงานได้จริง

ขณะเดียวกัน วางแผนผลิตนักศึกษาเฉพาะทางเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า นักศึกษาเมื่อเรียนจบ ปวช. และ ปวส. สถานประกอบการอ้าแขนรับทำงาน ที่สำคัญ สามารถเติบโตในสายงาน และเพิ่มช่องทางให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือระดับที่สูงขึ้น

ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เล่าแนวทางผลิตนักศึกษา ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จับมือกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมผู้ประกอบการ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สำรวจความต้องการแรงงานในเบื้องต้นว่าในช่วง 5 ปี (ปี 2558-2562) โดยภาพรวมต้องการแรงงานสายวิชาชีพประมาณ 4 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ได้ทำการสำรวจแบบลงรายละเอียดว่า สถานประกอบการต้องการสาขาไหนบ้าง จำนวนเท่าไหร่ เพื่อสถานศึกษาอาชีวะจะได้ผลิตนักศึกษาให้ตรงต่อความต้องการ ซึ่งสอดคล้องต่อนโยบายของรัฐบาล

จริงๆ แล้วบทบาทของอาชีวะเรื่องการผลิตนักศึกษา จะตอบ 2 โจทย์หลักๆ นั่นก็คือ โจทย์แรก ผลิตนักศึกษาป้อนสถานประกอบการ จึงสอบถามว่าต้องการนักศึกษาสาขาไหน จำนวนเท่าไหร่ รวมถึงความรู้ความสามารถของนักศึกษา พบว่า สาขาที่มีความต้องการอันดับต้นๆ คือ สาขาการท่องเที่ยวและการบริการ และ 14 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มยานยนต์ กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มไฟฟ้า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเครื่องปรับอากาศ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ช่างเชื่อม ช่างกลโรงงาน เป็นต้น

โจทย์ที่สอง ผลิตนักศึกษาให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อมาพัฒนาประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยกำลังขยายระบบขนส่งระบบราง ลอจิสติกส์ ทว่า บ้านเรายังมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ไม่มากต้องพึ่งแรงงานจากต่างประเทศ ดังนั้น จำเป็นต้องผลิตสาขาเฉพาะทางขึ้นมาเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประเทศ

ข้อดีของการสำรวจสอบถามความต้องการของสถานประกอบการว่าต้องการอัตรากำลังคนสาขาไหน จำนวนเท่าไหร่ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะดูว่าวิทยาลัยในสังกัดมีความสามารถผลิตนักศึกษาตามสาขา จำนวน ที่สำคัญ สอศ. จับมือกับสถานประกอบการต่างๆ เรียกว่าทวิภาคี โดยร่วมกันผลิตนักศึกษาให้มีคุณภาพตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการ

อันที่จริงหลายปีที่ผ่านมา สถานประกอบการเข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมปั้นนักศึกษาให้มีคุณภาพ โดยจัดทำลักสูตรร่วมกับอาชีวศึกษา นอกจากนี้ สถานประกอบการยังส่งผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาด้วย เมื่อเรียนภาคทฤษฎีจบแล้ว สถานศึกษาจะส่งนักศึกษาไปฝึกงานในสถานประกอบการ จะทำงานเหมือนพนักงานของบริษัท เมื่อนักศึกษาเรียนจบ ปวช. หรือ ปวส. บริษัทมักจะรับเด็กเข้าทำงานทันที

“สอส. ร่วมกับสถานประกอบการจะมีการปรับเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ ขณะเดียวกัน อาจารย์ยังได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะสถานประกอบการส่วนมากมักจะเปลี่ยนเทคโนโลยีให้เป็นรุ่นที่ทันสมัยเสมอ”

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชน และหน่วยงานของภาครัฐมีความต้องการแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ช่างเชื่อมใต้น้ำ การขุดเจาะน้ำมัน สาขาการตรวจสอบโดยไม่ทำลาย อย่างการตรวจสอบการเชื่อมท่อน้ำมัน การซ่อมปีกเครื่องบิน การเชื่อมรางรถไฟ

ดร.ชัยพฤกษ์ เล่าให้ฟังว่า การผลิตนักศึกษาสาขาเฉพาะทางนั้น เราทำได้บางสาขา โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัทกลุ่มปิโตรเคมี ประมาณ 7 ปีแล้ว เขาจะเข้ามามีส่วนร่วมคัดเลือกนักศึกษา รุ่นละ 50 คน โดยเด็กที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนจนเรียนจบ และได้บรรจุเป็นพนักงานของกลุ่มปิโตรเคยมีทันที อย่างไรก็ตาม เราพบว่า เด็กกลุ่มนี้จะมีรายได้สูง สิ่งสำคัญสถานประกอบการสนับสนุนให้ทุนเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีสาขาการตรวจสอบโดยไม่ทำลาย เช่น ตรวจสอบการเชื่อมท่อน้ำมัน การซ่อมปีกเครื่องบิน ซึ่งการตรวจสอบจะดูด้วยตาเปล่าไม่ได้ จะใช้เครื่องเลเซอร์ เครื่องมือที่มันสมัยมาสแกน อย่างไรก็ดี เด็กที่เรียนสาขาเหล่านี้ก่อนจะไปประกอบอาชีพจะต้องได้ใบรับรองระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหลักสูตรพิเศษที่ สอศ.ร่วมมือกับต่างประเทศ ประเทศไทยเพิ่งเปิดเป็นปีแรก ซึ่งหลักสูตรเหล่านี้จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ

“ในอนาคตบริษัททั้งในประเทศ และต่างประเทศมีแนวโน้มต้องการผู้ที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษเพิ่มสูงขึ้น แน่นอนผู้ที่จบสาขานี้จะมีรายได้สูง”

พร้อมกันนี้ เพื่อให้นักศึกษาแข่งขันกับนานาประเทศ หรือรองรับแรงงานเพื่อนบ้านเมื่อเปิด AEC ดร.ชัยพฤกษ์ บอกว่า นักศึกษาของเรามีจุดเด่นเรื่องฝีมือเป็นที่ยอมรับจากบริษัท แต่จะต้องแก้จุดอ่อนเรื่องภาษาอังกฤษ ดังนั้น อาชีวศึกษาได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตร Mini English program กับ English program โดยเน้นให้นักศึกษาใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร และการดำรงชีวิต ซึ่งรุ่นแรกกำลังจะเรียนจบ อย่างไรก็ตาม สอศ.มีแผนจะขยายหลักสูตรดังกล่าว 147 แห่งในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

“ทักษะฝีมือด้านการทำงานของนักศึกษาเป็นที่ยอมรับจากบริษัท สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ อีกสิ่งที่จะต้องเพิ่มก็คือ ภาษาอังกฤษ ซึ่ง สอศ.ปรับหลักสูตรปกติ เน้นให้นักศึกษาเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยจัดทำหลักสูตร และสอนด้วย เนื่องจากมีศัพท์เฉพาะค่อนข้างมาก รวมทั้งฝึกให้เด็กใช้ภาษาในการสื่อสารให้คล่องขึ้นด้วย หากเด็กมีฝีมือโดดเด่น เก่งภาษา มั่นใจได้ว่าเด็กมีโอกาสเติบโตในสายงาน และสามารถศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น”

ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า เรื่องค่านิยมเรียนปริญญานั้นเราไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่ สอศ.จะผลักดันเด็กให้ถึงเป้าหมายดังกล่าว โดยขอความร่วมมือต่อภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม และสถานประกอบการต่างๆ ให้สนับสนุนเด็กเรียนต่อ คือ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย ขณะเดียวกัน สอศ. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และอื่นๆ ให้ยืดหยุ่นการรับนักศึกษาที่จบ ปวส. ซึ่งเมื่อก่อนนี้ เด็กจบ ปวส.จะต้องใช้เวลาเรียน 2 ปีครึ่ง หรือ 3 ปี ทำให้เด็กเรียน ปวช.แล้วไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันได้ยืดหยุ่นเรียนเพียง 2 ปี นอกจากนี้ สอศ. เปิดหลักสูตรปริญญาตรี แต่ยังเปิดไม่มากเพื่อสานฝันเด็กสายอาชีพจบปริญญา

อยากชวนมาเรียนสายอาชีพ จบแล้วมีงานทำ มีรายได้สูง และมีโอกาสศึกษาต่อระดับปริญญา




กำลังโหลดความคิดเห็น