xs
xsm
sm
md
lg

วิจัย “ทีมหมอครอบครัว” พบแพทย์ รพช.ไม่เยี่ยมบ้าน แนะพยาบาลช่วยงานคนไข้นอกเพิ่มเวลาหมอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผลวิจัยชี้ 99% หนุนเดินหน้านโยบาย “ทีมหมอครอบครัว” 95% รับทำงานเป็นทีมมากขึ้น พบบางพื้นที่ หมอ รพช. ไม่ลงเยี่ยมบ้านตาม รพ.สต. ร้องขอ เสนอเพิ่มความสามารถ - แรงจูงใจแพทย์ทำงานปฐมภูมิ พัฒนาทีมสหวิชชีพ มอบพยาบาล รพช. แบ่งเบาบริการคนไข้นอก เพิ่มโอกาสหมอทำงานในชุมชน

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีม.มหิดล ในฐานะผู้ดำเนินการวิจัยโครงการวิจัยติดตามประเมินผลนโยบายทีมหมอครอบครัว ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อเป็นข้อมูลเชิงวิชาการและเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้ สธ.นำไปพัฒนานโยบายในระยะต่อไป เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยด้วยวิธีผสมผสานระหว่างการศึกษาเชิงปริมาณแบบตัดขวางและการเจาะลึกทางคุณภาพ ใน 24 อำเภอ 8 จังหวัด คนไข้ 1,874 คน บุคลากร 218 คน และผู้บริหารสถานพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีก 40 คน ซึ่งจากการวิจัย พบว่า ในด้านบริการนั้น ผู้รับบริการ ร้อยละ 59 เห็นว่า ทีมหมอครอบครัวเป็นคนในทีมเดียวกับหมอที่รักษาประจำในโรงพยาบาล ทั้งในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) สะท้อนให้เห็นโครงสร้างทีมในลักษณะการบริการแบบไร้รอยต่อ

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนรูปแบบการทำงานของทีมหมอครอบครัวในการให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ในระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับชุมชน พบว่า ความสัมพันธ์ด้านบริการระหว่าง รพ.แม่ข่าย กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และหน่วยงานอื่น มีด้านบวก เช่น สมาชิกทีมหมอครอบครัวร้อยละ 95 ตอบแบบสอบถามว่าการทำงานแบบทีมหมอครอบครัวทำให้ตนเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยใช้ทีมมากขึ้น มีการสื่อสารและประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ และด้านลบ เช่น แพทย์ รพช. ไม่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านตามที่ รพ.สต. ร้องขอ ขณะทีบางพื้นที่มีประเด็นความสัมพันธ์ที่เป็นด้านบวกและลบ ระหว่าง รพ.แม่ข่าย กับ รพ.สต. เป็นต้น ส่วนประเด็นความผันผวนไม่ต่อเนื่องของกระบวนการนโยบายส่วนกลาง คือ วาทกรรมและตัวชี้วัดทางนโยบายที่เปลี่ยนบ่อย ซึ่งกระทบกับคนทำงานในพื้นที่ เช่น การบั่นทอนความคิดริเริ่มในการทำงาน เป็นต้น

“ทั้งนี้ ผลการศึกษาด้วยแบบสอบถามพบว่า ร้อยละ 99 เห็นด้วยว่าควรดำเนินนโยบายนี้ต่อไป เพราะเห็นถึงประโยชน์จากการกำหนดเป้าหมาย สำหรับข้อเสนอการพัฒนานโยบาย คือ การกำหนดเป้าหมายครัวเรือนให้ทีมสหวิชาชีพทุกระดับรับผิดชอบ กำหนดเป้าหมาย รพ.สต. ให้ทีมสหวิชาชีพอำเภอรับผิดชอบสนับสนุนทางวิชาการ และเชื่อมโยงสู่ผู้บริหาร เพื่อสนับสนุนทรัพยากรบนหลักการทำงานเป็นเครือข่ายฉันท์มิตร มุ่งเน้นประโยชน์คนไข้เป็นศูนย์กลาง ส่วนการพัฒนาบุคลากร ควรเน้นเสริมขีดความสามารถ และแรงจูงใจด้านการจัดการให้แก่แพทย์ผู้ทำงานปฐมภูมิ และพัฒนาทีมสหวิชาชีพที่ไม่ใช่แพทย์ ซึ่งหมุนเวียนน้อยกว่าแพทย์ ให้มีบทบาทหน้าที่สืบสานการนำการพัฒนาบริการปฐมภูมิให้ยั่งยืน โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้จากการทำงานเป็นหลัก ทั้งนี้ ถ้ามอบหมายให้พยาบาลเวชปฏิบัติใน รพช. แบ่งเบาภาระแพทย์ในบริการคนไข้นอก น่าจะเพิ่มโอกาสให้แพทย์ได้ทำงานด้านปฐมภูมินอกเหนือจากการตรวจโรคได้มากขึ้น” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น