xs
xsm
sm
md
lg

ภาคีเครือข่าย “วอล์กเอาต์” ไม่ร่วมประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส.พ้อแก้ กม.บนความเกลียด-กลัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคีเครือข่าย สสส. วอล์กเอาต์ ไม่ร่วมประชาพิจารณ์แก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. พ้อแก้กฎหมายบนพื้นฐานความเกลียด - กลัว “หมอชนิกา” เห็นใจ สสส. ไม่มีส่วนร่วมยกร่างแก้ พ.ร.บ. วอน 3 กระทรวงคิดใหม่ นักกฎหมาย ชี้ ร่างแก้ไขขัด ม.77 ขาดการรับฟังเสียงผู้เกี่ยวข้อง

หลังจากมีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. สสส. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น ซึ่งจะมีการดำเนิน 2 วัน คือ วันที่ 31 มี.ค. 2560 และ วันที่ 3 เม.ย. 2560 ซึ่งได้มีการประชาพิจารณ์ไปแล้วรอบหนึ่งนั้น

วันนี้ (3 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สธ. ได้จัดประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. สสส. เป็นครั้งที่ 2 พญ.ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ในฐานะอดีตคณะกรรมการกองทุน สสส. มีความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับ สสส. เพราะการทำงานของ สสส. เป็นงานบุญ ควรมีส่วนเข้าไปรับทราบในกระบวนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการรับฟังความเห็นในครั้งนี้คงไม่สามารถสรุปได้ เพราะเท่าที่ได้รับฟังตั้งแต่เปิดประชุมมายังไม่มีใครเห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เลย โดยเฉพาะหลักการและเหตุที่ได้ยกขึ้นมาเป็นลักษณะรีบเขียนจากวิกฤตที่เกิดกับ สสส. ที่ผ่านมา โดยไม่มีการเท้าความให้ถี่ถ้วนและรอบด้าน ดังนั้น การรับฟังความเห็นในวันนี้ตนคิดว่าอยากให้ทุกคนที่ทำงานกับ สสส. ได้ร่วมกับระบายความในใจ โดยยึดหลักการทำงานเพื่อประเทศชาติตามเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อย่างไรก็ตาม ตนก็เห็นใจผู้บริหารประเทศจากสถานการณ์ที่ผ่านมา แต่การรับฟังความเห็นในวันนี้ก็สะท้อนกลับไป สธ. แล้วว่า ความคิดความเห็นของ 3 กระทรวงคงไม่เพียงพอ

นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กระบวนการร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ ที่ผ่านมา ไม่มีได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และตนอยากถามว่า เหตุใดจึงมีทัศนคติที่เป็นไปในเชิงลบต่อกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เครือข่ายของคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพกว่า 10 ปี มีความกังวลและเกิดคำถามว่า ข้อคิดเห็นจากเครือข่ายฯ ในที่ประชุมประชาพิจารณ์ในครั้งนี้จะถูกนำไปพิจารณาหรือไม่ หรือเพียงทำตามขั้นตอนปฏิบัติเท่านั้น

นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ อดีตนายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การที่ระบุไว้ในเหตุผลของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. ว่า กฎหมายของ สสส. มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของกองทุน การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลนั้น ถือเป็นการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ด้วยความเกลียดและความกลัว ทั้งที่การตรวจสอบที่ผ่านมาไม่พบประเด็นการทุจริต อีกทั้ง สสส. ยังได้รับรางวัลหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาล และองค์กรต่างชาติยกย่องให้เป็นต้นแบบการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ไม่ใช่เซลล์หลักในการทำงานแต่เป็นฮอร์โมนแห่งความสุขที่หนุนเสริมการทำงานทุกๆ หน่วยงานไม่ใช่เฉพาะแค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้แก้ไขหลักการและเหตุผลในร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ ใหม่

นายไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากหลักการและเหตุผลในร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ นั้นตนเองว่าอาจขัดร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ในมาตรา 77 ที่ระบุว่า ก่อนการตรากฎหมายรัฐพึงจัดรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง และศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ เปิดเผยแผนการรรับฟังความเห็นต่อประชาชน และนำข้อมูลมาประกอบการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ดังนั้น กระบวนการก่อนมีกฎหมายต้องมีขั้นตอนเหล่านี้

นพ.มารุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการหลังจากที่รับฟังความเห็นจากที่ประชุมประชาพิจารณ์ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ ในครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 แล้ว จะสรุปประเด็นข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง 16 ประเด็น นำเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทราบภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วม 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาว่ามีประเด็นใดที่มีข้อห่วงใยจาก สสส. และภาคีเครือข่ายฯ นั้น ควรมีการปรับแก้ไขอย่างไรให้กองทุน สสส. ยังคงดำเนินงานได้ตามเจตนารมณ์ รวมถึงจะได้เชิญ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เข้ามามีร่วมในกระบวนการจากนี้ด้วย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตลอดการทำงานของ สสส. กว่า 15 ปี มีเนื้อหาการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่กองทุนที่ล้มเหลวเหมือนที่มีการกล่าวหา มีนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานที่กว้างขวาง หลากหลาย เข้าใจว่า ผู้ที่อาจไม่เคยได้สัมผัสการดำเนินงานของ สสส. อาจใช้หลักกฎหมาย หรือหลักการทางนโยบายมาตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่า จะได้มีโอกาสชี้แจง และแสดงเจตนารมณ์ของกองทุนฯ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนได้มีการศึกษามานานกว่า 8 ปีก่อนที่จะมีการผ่าน พ.ร.บ. สสส. ในปี 2544 และตลอดระยะเวลาการทำงานก็ถูกประเมินจากองค์กรในระดับประเทศมากมาย องค์การอนามัยโลกเองได้ยกให้ สสส. เป็นต้นแบบองค์กรนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่อยากให้ประเทศได้มาเรียนรู้และนำไปใช้เป็นแบบอย่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นร่างแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ครั้งนี้ มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นที่มีการระบุหลักการและเหตุผลในการแก้ไข ที่ระบุว่า มีการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ สสส. เป็นหน่วยงานที่ได้คะแนนการประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ถึงร้อยละ 81.41 ได้รับเกียรติบัตรรับรองจากนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานระดับสูงมาก ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จึงเสนอให้มีการกลับไปแก้ไขหลักการและเหตุผล และเปิดโอกาสให้ สสส. และผู้เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. ก่อนจะนำมาสู่การประชาพิจารณ์ที่รอบด้านอีกครั้ง โดย นางทิชา ณ นคร กรรมการกองทุน สสส. ตัดสินใจออกจากที่ประชุมประชาพิจารณ์ และในภาคบ่ายภาคีเครือข่ายด้านสร้างเสริมสุขภาพ ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการประชาพิจารณ์ครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการประชาพิจารณ์ในช่วงบ่าย ได้มีการพิจารณาประเด็นแก้ไขใน 16 ประเด็น อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สร้างเสริมสุขภาพ”, การจำกัดวงเงินงบประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี, การกำหนดแผนการดำเนินงานประจำปีของกองทุน ต้องนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบอย่างน้อย 30 วัน, แก้ไของค์ประกอบคระกรรมการกองทุน โดยตัดรองประธานกรรมการฯ คนที่ 2, เป็นประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว เนื่องจากทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการกำหนดแผนการดำเนินงานประจำปีตามมาตรา 16/1 และ 16/2 จะทำให้ สสส. ต้องทำงานในลักษณะเดียวกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และขัดกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง สสส.
กำลังโหลดความคิดเห็น