xs
xsm
sm
md
lg

“ออทิสติก” ทำงานได้ 10 องค์กรรัฐ-เอกชน หันจ้างงาน เปิดพื้นที่ยืนในสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมสุขภาพจิตเร่งจับมือองค์กรรัฐ เอกชน หนุนการจ้างงาน “ออทิสติก” ชี้ รักษาเร็ว ช่วยผู้ป่วยมีพัฒนาการ ช่วยเหลือตัวเอง ทำงานได้ เผยมี 10 กว่าองค์กรให้โอกาสออทิสติกทำงาน เผยออทิสติกมีงานทำมีไม่ถึง 100 คน ขอโอกาสมีที่ยืนในสังคม

วันนี้ (25 มี.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคออทิสติกเกิดจากความผิดปกติของพัฒนาการทางสมอง ด้านสังคม ภาษา และพฤติกรรม พบได้ 6 ต่อ 1,000 ราย โดยประเทศไทยมีออทิสติกกว่า 3 หมื่นราย อาการหรือสัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ออทิสติกสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ พัฒนาได้ อยู่ในสังคมได้ ทำงานและพึ่งพิงตนเองได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีนโยบายในการจัดบริการเข้าถึง เพิ่มการตรวจคัดกรองหาภาวะออทิสติกในคลินิกสุขภาพเด็กดี ให้บริการฉีดวัคซีนและติดตามพัฒนาการเด็กหลังคลอดทุกคนจนถึงอายุ 5 ปี ตรวจเมื่อเด็กอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป เนื่องจากหากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาดแต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้และเข้าโรงเรียนได้ตามวัย

ผู้ป่วยออทิสติกต้องการการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง เหมาะสม และเข้มข้น โดยผสมผสานวิธีการต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ ตลอดจนสวัสดิการสังคมและการดำเนินชีวิตในชุมชน ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการให้เด็กพิเศษกลุ่มนี้ได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติและบำบัดรักษา กระตุ้นพัฒนาการ และปรับพฤติกรรม ดังนั้น การคืนบุคคลออทิสติกสู่สังคม จึงจำเป็นต้องมี “พันธมิตร” ในภาคสังคม ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา มีหลายองค์กรภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 10 องค์กรได้ให้โอกาสพวกเขาพิสูจน์ศักยภาพ รับเข้าทำงานไม่น้อยกว่า 30 ราย” รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

ด้าน นายกิติพัฒก์ เนื่องจำนงค์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตระหนักและเห็นถึงคุณค่าของผู้พิการและผู้ป่วยออทิสติกที่มีสิทธิเท่าเทียมในการประกอบอาชีพและได้รับการยอมรับจากสังคม ปัจจุบัน ได้รับจ้างงานเป็นพนักงานของบริษัททั้งสิ้น 6 ราย ปฏิบัติงานตามแผนกต่าง ๆ ตามความถนัดและเหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคน ทั้งนี้ บริษัทจะประสานงานกับ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ผ่านทางหัวหน้าโครงการทดลองจ้างงาน ของ รพ. เพื่อคัดเลือกน้อง ๆ ที่มีความพร้อม และมีความสามารถที่จะทำงานได้ส่งมาให้บริษัท ทำการคัดเลือกเข้าทำงานตามความถนัดของแต่ละคนต่อไป โดยได้กำหนดให้เด็ก 1 คน มีพี่เลี้ยง 1 คน ภายใต้การดูแลของฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคลของบริษัท ซึ่งระหว่างที่น้อง ๆ ทำงานอยู่ที่บริษัท เรายังต้องดูแลใส่ใจอย่างใกล้ชิด โดยใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมร่วมกับพี่เลี้ยง ตลอดจนปรึกษาถึงวิธีการดูแลและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกับจิตแพทย์และหัวหน้าโครงการทดลองจ้างงาน รพ.ยุวประสาทฯ มาโดยตลอด

พญ.รัชนี ฉลองเกื้อกูล ผอ.โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า สมองของเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 5 ขวบ จะมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ถ้ารีบแก้ไขปัญหาให้กับเด็ก จะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาได้อย่างดี เด็กออทิสติกหลายคนสามารถเรียนจบปริญญาและประกอบอาชีพได้เหมือนคนปกติทั่วไป อย่างไรก็ตาม บุคคลออทิสติกที่จบการศึกษา หรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ และเป็นภาระในครอบครัว จากการสำรวจของ The National Autistic Society (NAS) ของประเทศอังกฤษ พบว่า มีผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่เพียง 15% ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยออทิสติกถูกจัดว่าเป็นแรงงานที่ไม่ความชำนาญจึงได้รับค่าตอบแทนในระดับต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อยและมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน และจากข้อมูลของมูลนิธิบุคคลออทิสติกไทย พบว่า มีบุคคลออทิสติกจำนวนไม่ถึงร้อยคนที่มีงานทำหรือสามารถประกอบอาชีพ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับครอบครัว สามารถช่วยเหลืองานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเปิดโอกาสให้พวกเขามีที่ยืนในสังคมต่อไปได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น