xs
xsm
sm
md
lg

เข้าใจเสียใหม่! “ซึมเศร้า” ไม่ได้เกิดจากเวรกรรม แต่เป็นกรรมพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลบความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ยืนยันไม่ได้เกิดจากเวรกรรม หากแต่เป็นกรรมพันธุ์ สังเกตตัวเองถ้าพบอาการควรรีบพบแพทย์ ย้ำ! ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ใช่คนบ้า องค์การอนามัยโลกเผยผลสำรวจ เตรียมรับมือใน 4 ปีข้างหน้า โรคซึมเศร้าจะเป็นสาเหตุการเจ็บป่วยอันดับ 2 ของโลก และขณะนี้ในไทยมีผู้ป่วยแล้วถึง 1.5 ล้านคน!

เพราะ “กรรม” ทำให้เกิดโรค “ซึมเศร้า?”
“โรคซึมเศร้าเกิดจากการทำกรรมอะไรคะ?”
กลายเป็นประเด็นขึ้นมา เมื่อญาติโยมได้ตั้งคำถามกับ พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล วัดนาป่าพง ถึงสาเหตุของโรคซึมเศร้า ว่าเกิดจากการทำกรรมอะไรไว้? สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อผิดเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า พระอาจารย์จึงช่วยคลายข้อสงสัยเอาไว้ให้ ตามหลักพระพุทธศาสนา
“มันเป็นชื่อโรคที่เราเอามาบัญญัติกันเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าอาจเรียกอีกแบบหนึ่ง เช่น สัญญาวิปลาส อาจจะเป็นประเภทเดียวกันคือ บ้าน้อยบ้ามาก มันเพลินอยู่กับความคิด จิตไม่ค่อยกลับมาอยู่ที่กาย มันฟุ้ง จิตมันอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ พระพุทธเจ้าจึงมีคำว่า โลกะจินตนา จินตนาการเรื่องโลก เป็นเหตุให้วิปลาส อย่าไปคิดเรื่องโลกเยอะ ต้องเอาจิตกลับมาที่กาย โยมฟุ้งไปเรื่องโลก จิตมันออกจากกายไปนาน กายก็ป่วย เสียหาย”
เมื่อคลิปดังกล่าวได้รับการแชร์ในวงกว้าง จึงมีคนออกมาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม บางส่วนมองว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากกรรมในชาติที่แล้ว ส่งผลมาถึงชาตินี้ จึงทำให้ชีวิตไม่พบกับความสุข แต่คนส่วนใหญ่กลับมองว่า โรคซึมเศร้านั้นเกิดจากผลกรรม กรรมที่แปลว่าการกระทำของแต่ละบุคคล ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรม!



นพ.เจษฎา ทองเถาว์ แพทย์เฉพาะทางสาขาจิตเวชศาสตร์ จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กล่าวถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคซึมเศร้านั้น ที่บอกว่าเกิดจาก “กรรม” นั้นก็มีส่วนถูก แต่กรรมที่ว่านั้นคือ “กรรมพันธุ์” ทางการแพทย์ระบุว่า หากพ่อหรือแม่เป็นโรคนี้ ลูกก็มีโอกาสที่จะเป็นสูง สาเหตุต่อมาคือความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง และสุดท้ายคือปัจจัยกระตุ้นทางด้านจิตสังคม เช่น การสูญเสีย การจากพรากสิ่งอันเป็นที่รัก ความกดดัน ปัญหาชีวิต (การหย่าร้าง สอบตก ตกงาน ฯลฯ) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้าตามมา
ยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่า โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นเพราะเรามีจิตใจที่อ่อนแอ แต่จริงๆ แล้วเป็นเพราะตัวโรคซึมเศร้าเอง ที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนแอ มองโลกในแง่ร้าย ขาดแรงจูงใจ และในบางรายถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป



สิ่งสำคัญของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าคือการดูแลรักษา การได้รับการบำบัดรักษาที่เป็นองค์รวม ทั้งการกินยา การทำจิตบำบัด การได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง หรือบางคนอาจจะใช้หลักธรรม มรรค คือหนทางแห่งการดับทุกข์ทางพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วย ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคซึมเศร้าได้
“ความอ่อนแอไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าต่างหากที่ทำให้จิตใจอ่อนแอ” สูตรง่ายๆ ของ นพ.เจษฎา ที่อธิบายพร้อมรูปภาพประกอบในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา” เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจโรคซึมเศร้ามากขึ้น

รักษาได้! ไม่ต้องกลัวคนหาว่า “บ้า”

“คือแม่ทรายป่วยนะฮะ เป็นซึมเศร้าสเตจค่อนข้างรุนแรง แต่รู้นานแล้วกินยาต่อเนื่องกันมานานเป็นสิบๆ ปีแล้วตั้งแต่ทรายยังเล็กๆ แต่ช่วงนี้เป็นอีกระยะของอาการเลยต้องปรับตัว/ปรับยากันใหม่ (ดังนั้น ใครที่จะเสนอวิธีรักษาทางอื่นๆ ระงับไว้ก่อนนะ แม่เราเลือกการกินยา เขาวางใจอันนี้ค่ะ)
ส่วนตัวทรายไม่ได้อายหรือรู้สึกแย่อะไร ป่วยก็รักษากันรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา ทรายก็เคยเป็น ระยะเวลารักษาตัวมันไม่เท่ากันแค่นั้นเอง แต่แม่เขาคงกลัวทรายอายมั้ง ซึ่งไม่จ้ะ อายทำไมแม่ป่วย ไม่ได้ทำอะไรผิดสักหน่อย”
ทราย-อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงสาวมากความสามารถ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ตรงจากภัยเงียบนี้ โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านเฟซบุ๊ก “Inthira Itr Charoenpura” ว่าแม่ของเธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในระดับที่ค่อนข้างรุนแรง รักษาโดยการใช้ยาอย่างต่อเนื่องมาหลาย 10 ปี และตอนนี้อยู่ในช่วงที่ต้องปรับเปลี่ยนยาเพื่อให้เหมาะสมกับระดับของอาการ



ตัวเธอเองก็เคยป่วยเป็นโรคนี้ แต่ก็รีบรักษาตัวเองให้หาย หากจะให้คนป่วยมาดูแลกันเองก็จะทำให้วุ่นวายไปใหญ่ ทุกวันนี้ตนได้ดูแลแม่อย่างดี ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่ก็พยายามไม่ได้ตามใจมากเกินไป แนะนำหากใครพบว่าตัวเองหรือคนในครอบครัวมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที เพราะโรคซึมเศร้านี้ สามารถรักษาให้หายขาดได้
ในปี พ.ศ. 2563 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นปัญหาการเจ็บป่วยอันดับ 2 ของประชากรโลก เป็นที่น่าตกใจไม่น้อย เมื่อผลสำรวจจากธนาคารโลกและองค์การอนามัยโลกออกมาเช่นนี้ โดยในประเทศไทยเองมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้านจิตเวชสูงขึ้นถึง 1.5 ล้านคน ยังไม่รวมบางส่วนที่ไม่ได้เข้ารับการรักษา เพราะกลัวสังคมมองว่า ‘เป็นบ้า’



นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกว่าสังคมไทยยังมีอคติต่อผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ขาดความรู้ความเข้าใจว่าสามารถรักษาหายได้ ที่ผ่านมาความเข้าใจเรื่องโรคจิตเวชและสุขภาพจิตก็เริ่มดีขึ้นบ้าง มีโรงพยาบาลที่เปิดหอผู้ป่วยจิตเวช หรือเตียงฉุกเฉินผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดเพิ่มขึ้นเป็น 67% จากเดิมที่มีเพียง 58% ผู้ป่วยจิตเวชสามารถรับยารักษาต่อเนื่องได้ที่คลินิกจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน จากเดิม 17 แห่ง เป็น 94 แห่ง ตัวเลขของผู้ป่วยโรคจิตเภทเข้าถึงบริการรักษาเพิ่มขึ้นเป็น 42% โรคซึมเศร้า 38% และผู้ป่วยติดสารเสพติดที่ได้รับการรักษาและไม่กลับไปติดซ้ำเพิ่มขึ้นเป็น 80%



“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานด้านสุขภาพจิต นอกเหนือจากการรักษาแล้ว คือการทำให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ไม่ถูกลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์ มีโอกาสได้ใช้ชีวิตทุกช่วงวัยอย่างมีคุณค่าและมีความสุข เป็นเรื่องสำคัญมาก”

ข่าวโดย : ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล : เฟซบุ๊ก “คลินิกสุขภาพจิตนายแพทย์เจษฎา” , www.hiso.or.th




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น