xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยดูดนมจากเต้าน้อย สวนทางกระแสโลก แนะสร้างปัจจัยเอื้อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยมีอัตราเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” ต่ำ สวนทางกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่พบสูงถึง 37% กรมอนามัยย้ำต้องผลักดันการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำมนสังคม ด้วยการให้ต้นทุนเท่ากัน ป้องกันติดเชื้อในเด็ก เพิ่มความฉลาด ลดเสี่ยงแม่เป็นมะเร็งเต้านม แนะร่วมกันสร้างปัจจัยเอื้อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

วันนี้ (24 มี.ค.) นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเปิดการประชุมนำเสนอผลการวิจัยและข้อเสนอเชิงนโยบายจาก “The Lancet Breastfeeding Series” เรื่อง ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อสุขภาพและพัฒนาการเด็ก และการพัฒนาประเทศ ว่า จากข้อมูลสถานการณ์โลก พบว่า ประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำและปานกลาง ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าประเทศที่ประชากรมีรายได้สูง โดยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ร้อยละ 37 แต่ประเทศไทยซึ่งมีรายได้ปานกลางกลับมีอัตราค่อนข้างต่ำ คือ ร้อยละ 12.3 ทั้งที่นมแม่ช่วยป้องกันการติดเชื้อในเด็กและปัญหาเรื่องการสบฟัน ทำให้เด็กฉลาดขึ้นและลดปัญหาเกี่ยวกับเด็กน้ำหนักเกินและโรคเบาหวานที่ลดลง ส่วนแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่าสามารถลดการเป็นมะเร็งเต้านมและป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ได้

นพ.วชิระ กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เพราะเป็นการให้โอกาสเด็กทุกคนได้รับต้นทุนที่มีค่าต่อการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งคุณค่านมแม่ส่งผลให้เด็กมีสติปัญญาที่ดีขึ้นพร้อมเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้น การส่งเสริมให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่จึงเป็นการสร้างรากฐานที่ดีให้แก่ประเทศ จึงต้องมีการผลักดันนโยบายของทุกภาคส่วนให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนเพื่อสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจัดให้แม่ได้รับการสนับสนุนและคำปรึกษาอย่างเพียงพอ ตั้งแต่ตั้งครรภ์ การสร้างทัศนคติในชุมชนให้ส่งเสริมนมแม่ในชุมชน การอบรมเสริมทักษะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และส่งเสริมนโยบายในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น นโยบายเรื่องการลาคลอดและการคุ้มครองแรงงานหญิง การควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอาหารทารกและเด็กเล็ก เป็นต้น

“การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นวิธีลงทุนที่ฉลาดและคุ้มค่าการลงทุนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการลงทุนทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรในแผนงานที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น และร่วมกันผลักดันให้เกิดนโยบายที่จะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของเด็กและของสังคมไทย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น