ภัยเงียบของผู้หญิงที่มาแบบไม่รู้ตัวในปัจจุบันมีหลากหลายประเภท หนึ่งในนั้นคือภัยเงียบด้านสุขภาพ โดยเฉพาะมะเร็ง ปัจจุบันพบว่ามะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์สตรีพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นอันดับ 6 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในหญิงไทย ที่ว่าเป็นภัยเงียบนั้นเพราะว่า มะเร็งรังไข่ ผู้ป่วยจะมีอาการที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ อาการท้องโตอืดขึ้น เนื่องจากในท้องมีน้ำหรือมีก้อนเนื้องอกใหญ่ แน่นอึดอัดในท้อง ปวดท้อง ซึ่งกว่าจะตรวจพบอาการของโรคมะเร็งนั้น ก็ได้แพร่กระจายไปในช่องท้องมากแล้ว
นพ.พิเชฐ ผนึกทอง สูติ-นรีแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า มะเร็งรังไข่พบได้ทุกกลุ่มอายุ โดยขึ้นอยู่กับชนิดที่พบ มะเร็งรังไข่ชนิดเยื่อบุผิวร้อยละ 85 พบได้บ่อยสุดของมะเร็งรังไข่ทั้งหมด อุบัติการณ์จะสูงขึ้นตามอายุ โดยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังอายุ 40 ปี และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุ 55 ปี อุบัติการณ์จะเริ่มลดลง อีกชนิดที่พบไม่บ่อยแต่มักเกิดในเด็กและสตรีที่อายุน้อยกว่า 20 ปี พบว่าร้อยละ 60 จะเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดเจอร์มเซลล์ ซึ่งสาเหตุของการเกิดมะเร็งรังไข่ยังไม่สรุปแน่ชัด แต่มักจะเกิดในสตรีที่อายุค่อนข้างมาก ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง สตรีที่มีบุตรน้อย รวมทั้งพบบ่อยในสตรีที่รับยากระตุ้นให้มีการตกไข่ พบว่าเป็นน้อยลงในสตรีที่รับประทานยาคุมหรือฉีดยาคุมกำเนิด และปัจจุบันนี้ตรวจพบว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่าง คือ ยีน BRCA1 ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ จึงเป็นทำให้พบว่าผู้หญิงในตระกูลเดียวกันเป็นมะเร็งรังไข่ร่วมกันได้บ่อย ๆ
นพ.พิเชฐ ผนึกทอง กล่าวว่า มะเร็งรังไข่ เป็นโรคที่ตรวจพบได้ยาก เพราะไม่มีอาการเริ่มแรกหรืออาการใด ๆ บ่งชี้โดยเฉพาะ เพราะอาการจะยังคลุมเครือและคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ เสียมากกว่า 70% ของผู้ที่ป่วยถูกตรวจพบอาการเมื่่อมะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ แล้ว ซึ่งมีอัตราการรอดชีวิตเพียงแค่ 20 - 25% เท่านั้น แต่ผู้ที่ตรวจพบอาการก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจายนั้นมีอัตราการรอดถึง 85 - 90% ในการรักษา เพราะฉะนั้น การตรวจสุขภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจภายในเพื่อคลำก้อนที่อยู่ในท้องน้อย และเมื่อพบก้อนที่มีข้อบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งรังไข่สูง แพทย์จำเป็นต้องนำชิ้นส่วนไปตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังนั้น
คุณสุภาพสตรีควรตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการเช็คตัวเองว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายหรือไม่ เราจะได้สามารถรับมือและแก้ไขได้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่โรคจะมีความร้ายแรง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่