xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิ ขรก.มีคนรวยมากสุด สิทธิบัตรทองคนจนเยอะสุด ย้ำร่วมจ่ายห้ามเก็บเท่ากัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาจารย์เภสัชฯ มข. เผยผลสำรวจเศรษฐานะ 3 กองทุนสุขภาพ พบ ขรก.คนรวยมากสุด 78.8% คนจนมี 9.7% ขณะที่บัตรทองคนจนมากสุด 37.5% คนรวยมีเพียง 23% ย้ำแนวทางร่วมจ่ายต้องคำนึงเศรษฐานะที่แตกต่าง หวั่นกระทบคนจนเก็บเฉลี่ยเท่ากัน

ศ.ภก.สุพล ลิมวัฒนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากผลการวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการครัวเรือนทั่วประเทศของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ทำการสำรวจทุก 2 ปี โดยนำของปี 2556 มาใช้ในการติดตามและวิเคราะห์ระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงเศรษฐานะของครัวเรือนทั้ง 3 กองทุน เพื่อวิเคราะห์ถึงความแตกต่างของเศรษฐานะที่มีผลการเข้าถึงการรักษาในสถานพยาบาลแต่ละระดับ ซึ่งได้นำเสนอต่อที่ประชุมหลักประกันสุขภาพระดับชาติที่ผ่านมา โดยข้อมูลสะท้อนว่า ผู้มีสิทธิทั้ง 3 กองทุนมีเศรษฐานะที่แตกต่างกันจริง จากการสุ่มเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างประชากร 67 ล้านคนใน 3 กองทุน โดยแบ่งกลุ่มเศรษฐานะออกเป็น 5 ระดับ พบว่า สิทธิสวัสดิการข้าราชการร้อยละ 78.8 มีเศรษฐานะที่ดีอยู่ในระดับบน โดยร้อยละ 58.7 เป็นกลุ่มที่อยู่ในระดับรวยที่สุด มีเพียงร้อยละ 9.7 เท่านั้น ที่อยู่ในกลุ่มที่จนสุดและจนรองลงมา สวนทางกับสิทธิบัตรทองที่มีกลุ่มระดับจนจำนวนมาก ถึงร้อยละ 37.5 มีกลุ่มระดับที่รวยที่สุดเพียงร้อยละ 14.3

ผู้สื่อข่าวถามว่า งานวิจัยนี้สามารถนำไปเชื่อมโยงกับข้อเสนอการร่วมจ่ายได้หรือไม่ ศ.ภก.สุพลกล่าวว่า การร่วมจ่ายรักษาพยาบาลมี 2 รูปแบบ คือ การร่วมจ่ายตอนรักษาพยาบาลและการร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วย ซึ่งกรณีร่วมจ่ายช่วงรักษาพยาบาลในทางทฤษฎีเราไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะเป็นความเสี่ยงของผู้ป่วยไม่ว่าจะจนหรือรวย โดยขณะนี้มีการพูดถึงตัวเลขการร่วมจ่ายที่ร้อยละ 10 หากเป็นการจ่ายขณะที่ป่วย ถ้าค่ารักษา 1,000 บาทก็แค่ 100 บาท แต่หากเป็น 100,000 บาทเท่ากับหนึ่งหมื่นบาท ทั้งนี้หากเป็นการจ่ายก็ล่วงหน้าก็ควรเป็นการจ่ายตามความสามารถของรายได้

เมื่อถามถึงข้อเสนอของคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เสนอการร่วมจ่ายจากทุกกองทุน ศ.ภก.สุพลกล่าวว่า ระบบประกันสังคมมีการร่วมจ่าย แต่ก็มีสิทธิประโยชน์อื่นด้วย ไม่ใช่แค่การรักษาพยาบาล ซึ่งการร่วมจ่ายทุกกองทุนต้องมาคำนวณสัดส่วนว่าอย่างไรจึงจะเหมาะสม โดยเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีคนระดับจนสุดอยู่มาก หากใช้วิธีการจัดเก็บที่เท่ากันก็คงลำบาก อีกทั้งมองว่ากลไกการจัดเก็บก็คงไม่ง่าย เพราะมีคนที่ไม่ได้ทำงานภาคราชการและอาชีพอิสระตรงนี้จะจัดเก็บอย่างไร คงมีความยุ่งจากในทางปฏิบัติ กลายเป็นต้นทุนดำเนินการที่คิดไม่ถึงและอาจไม่คุ้มได้ ส่วนสวัสดิการข้าราชการนั้นเคยมีแนวคิดให้ใช้ระบบการออมทรัพย์เพื่อการรักษาพยาบาลเช่นเดียวกับสิงคโปร์ ซึ่งกรณีไม่ป่วยก็ไม่ต้องดึงมาใช้ แต่ระบบนี้ไทยในฐานะประเทศรายได้ปานกลางจะใช้ได้หรือไม่ จึงขอฝากข้อความห่วงใยถึงคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาการร่วมจ่าย ขอให้ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน และไม่ควรใช้วิธีเฉลี่ยการจ่ายเท่ากันทั้งหมด เพราะคนไทย 67 ล้านคน เศรษฐานะไม่เท่ากัน จึงควรใช้ข้อมูลที่มีอยู่แล้วมานำทิศทาง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น