เอเอฟพี - ด้วยความหวังที่จะให้ลูกของตัวเองได้รับการศึกษาที่ดีอย่างที่ตนเองไม่เคยได้รับ หวู ถิ ลีง คุณแม่ลูกสองชาวเวียดนาม ตัดสินใจย้ายครอบครัวจากบ้านในชนบทที่กว้างขวางมาอาศัยอยู่ในห้องเช่าแคบๆ ในกรุงฮานอย เช่นเดียวกับอีกหลายแสนครอบครัวที่ย้ายเข้าเมืองหลวงของประเทศ และนครโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจทางภาคใต้ ในแต่ละปี ในสิ่งที่ธนาคารโลกระบุว่าเป็นประเทศที่มีอัตราความเป็นเมืองขยายตัวรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมืองต่างๆ ของเวียดนามก็กำลังดิ้นรนในการรับมือกับประชากรจำนวนมากที่ทิ้งชีวิตในชนบท เหลือเพียงผู้สูงอายุและเด็กอาศัยอยู่ตามหมู่บ้าน
หวู ถิ ลีง ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงฮานอยเมื่อเดือนมิ.ย. หลังลูกสาว 2 คน สอบติดมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง และด้วยเหตุผลเกี่ยวกับอนาคตของลูกๆ ทำให้เธอยอมเปลี่ยนความคิด แม้ทีแรกจะไม่สนใจชีวิตในเมืองก็ตาม
"ฉันไม่คิดว่าชีวิตในเมืองน่าตื่นเต้น แต่เพราะอนาคตของลูกๆ ฉันต้องเปลี่ยนความคิด พวกเขามีความรู้มากขึ้นและตอนนี้พวกเขาไม่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตในชนบทอีก" ลีง กล่าว
นับตั้งแต่สงครามที่ยาวนานหลายทศวรรษได้สิ้นสุดลงในปี 2518 เวียดนามได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจากประเทศยากจนที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร มาเป็นประเทศรายได้ปานกลางและเป็นสมาชิกขององค์การค้าโลก
แม้ว่าเวียดนามยังมีปัญหาในภาคการธนาคารและรัฐวิสาหกิจ แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปีนี้ และนักวิเคราะห์ระบุว่าเวียดนามเป็นหนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ร้อยละ 70 ของประชากร 90 ล้านคน ยังคงใช้ชีวิตทำการเกษตรในพื้นที่ชนบท แต่ผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามกล่าวว่าพวกเขาต้องการให้เวียดนามเป็นประเทศอุตสาหกรรมและทันสมัยภายในปี 2578
หลายคนย้ายเข้าเมืองเพื่อทำงานในภาคการผลิตเพื่อการส่งออกที่มักอยู่ในเขตอุตสาหกรรมตามชานเมืองของเมืองใหญ่ต่างๆ และในภาคการก่อสร้างและการบริการ
สำหรับหลายคนในกลุ่มคนที่ย้ายเข้ามาใหม่ การใช้ชีวิตในเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
หวู ถิ ลีง ย้ายตัวเองจากพื้นที่ขนาด 500 ตารางเมตร ที่มีทั้งสวนและแปลงปลูกผัก ในจ.ท้ายบิ่ง ทางภาคเหนือ มายังห้องเช่าขนาด 20 ตารางเมตร ที่เธออาศัยอยู่ร่วมกับลูกสาวอีก 2 คน แต่รายได้ 300,000 ด่ง (13 ดอลลาร์) ที่เธอหาได้ในแต่ละวันจากการทำความสะอาดและเก็บเศษโลหะ ก็นับว่ามากกว่าสิ่งที่เธอหาได้เมื่อครั้งอยู่ในหมู่บ้านต่างจังหวัด
เล วัน หมึ่ง ชาวเวียดนามอีกรายที่ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงฮานอยตั้งแต่ 10 ปีก่อน เผยว่าไม่เสียใจมากนักที่ตัดสินใจเช่นนี้
"ชีวิตในชนบทหนักหนาเกินไป เราหาเงินได้ไม่มากและต้องทำงานหนักมากในทุ่งนา" เล วัน หมึ่ง กล่าว
จากภูมิลำเนาเดิมใน จ.ห่านาม ทางภาคเหนือของประเทศ เวลานี้หมึ่งทำงานเป็นช่างไฟฟ้าและภรรยาของเขาเปิดร้านอาหารเล็กๆ ทั้งคู่หาเงินรวมกันได้ราว 600 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งมากพอที่จะจ่ายค่าเช่าและส่งลูก 2 คน เรียนหนังสือ
แต่หมึ่งยอมรับว่าการใช้ชีวิตในกรุงฮานอยไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องพยายามเพื่อหาเงินให้ลูก ด้วยความหวังว่าลูกๆ ของพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีกว่าตัวเอง
.
.
ประชากรราว 7.5 ล้านคน ย้ายเข้ามาในตัวเมือง ระหว่างปี 2543-2553 ตามการระบุของธนาคารโลก และอัตราความเป็นเมืองอยู่ที่ 4.1% จาก 14 ประเทศที่ธนาคารโลกอ้างถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีเพียง ลาว และกัมพูชา ที่มีอัตราความเป็นเมืองสูงกว่า และเวลานี้เวียดนามมีประชากร 23 ล้านคนอาศัยอยู่ในตัวเมือง
"ชุมชนเมืองมีงานที่ให้ค่าแรงดีกว่าและโอกาสมากกว่าในชนบท นอกจากนั้นคนรุ่นใหม่ยังหันหลังให้กับวิถีชนบทดั้งเดิม มันเป็นเรื่องยากที่จะต้านทานสิ่งดึงดูดใจของชีวิตในเมือง" ซาง เหวียน แอ็ง ผู้อำนวยการสถาบันสังคมวิทยาเวียดนาม ในกรุงฮานอย กล่าว
เจ้าหน้าที่กล่าวว่าชาวเวียดนามประมาณ 100,000 คน ย้ายเข้าเมืองหลวงทุกปี และราว 130,000 คน ย้ายเข้านครโฮจิมินห์ ที่เป็นศูนย์กลางธุรกิจทางภาคใต้
สำหรับประเทศที่คำว่ากลับบ้านมีความหมายว่ากลับต่างจังหวัด คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญ
"ผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนนักศึกษาและแรงงานไร้ฝีมือ คือผู้ที่ได้ประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันกลุ่มคนเหล่านี้ได้สร้างแรงกดดันต่อวัฒนธรรม การศึกษา การจราจร การดูแลสุขภาพของเมืองด้วย" ฝ่าม วัน แถ่ง เจ้าหน้าที่กรุงฮานอย กล่าว
กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ต้องดิ้นรนสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอ ทั้งถนน ประปา และระบบระบายน้ำ เพื่อให้ทันกับการเติบโตของเมือง การจราจรติดขัดกลายเป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่โรงเรียนและโรงพยาบาลเกิดความแออัด ผู้เชี่ยวชาญระบุ
ในนครโฮจิมินห์ มีนักเรียนใหม่ 85,000 คน เข้าสู่ระบบการศึกษาในแต่ละปี และในบางพื้นที่ เกินครึ่งของเด็กนักเรียนใหม่เหล่านี้อาจมาจากจังหวัดอื่นๆ
เวียดนามมีระบบลงทะเบียนครัวเรือนซึ่งทำให้ผู้มาใหม่เข้าถึงการศึกษาฟรีและการดูแลสุขภาพในเมืองได้ยากขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่กรุงฮานอยระบุว่าทางการไม่พยายามที่จะลดจำนวนคนเข้าเมือง
การหลั่งไหลของประชากรเข้ามายังตัวยังทำให้ทั่วทั้งชนบทในเวลานี้มีแต่ผู้สูงอายุและเด็ก ด้วยผู้ใหญ่วัยแรงงานล้วนมุ่งหน้าเข้าเมืองใหญ่ต่างๆ หรือเขตอุตสาหกรรม ซึ่งนักสังคมวิทยาระบุว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะหากได้งานที่ดี ก็ไม่มีใครอยากกลับไปภูมิลำเนาเดิม.