xs
xsm
sm
md
lg

ขีดเส้น 1 เดือน เคาะรูปแบบ คกก.นโยบายสุขภาพแห่งชาติ ประสาน มท.-สวทช.ใส่ข้อมูลสุขภาพในบัตร ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.สธ.ขีดเส้น 1 เดือน เลือกรูปแบบตั้ง คกก.นโยบายสุขภาพแห่งชาติ ดีที่สุด ขัดแย้งน้อยที่สุด ก่อนชง คกก.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมสั่งรวบรวมข้อมูลภาพรวมกำลังคนสาธารณสุข ทั้งใน และนอกสังกัด เล็งสางปัญหาความก้าวหน้า ภาระงานหนัก เงินน้อย เล็งประสาน มท. สวทช.ใส่ข้อมูลสุขภาพในบัตร ปชช.

วันนี้ (24 มี.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรก ว่า ที่ประชุมได้เชิญหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี มารับทราบข้อมูลด้วย ซึ่งเบื้องต้นแผนการปฏิรูประบบสาธารณสุขจะดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.การอภิบาลระบบสุขภาพ โดยจะมีการตั้งองค์กรใหม่เป็นคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ เพื่อมาดูแลงานด้านสุขภาพทั้งระบบ เนื่องจากสุขภาพเป็นเรื่องของทุกคน ไม่เพียงแต่ สธ.เท่านั้น กระทรวงอื่นจะดำเนินการเรื่องใดก็ต้องคำนึงเรื่องสุขภาพของประชาชนด้วย การมีคณะกรรมการระดับชาติมาดูแลจึงเป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง

“ขณะนี้มีข้อเสนอคณะกรรมการ 3 รูปแบบ คือ คณะกรรมการประสานงานด้านนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Collaboration Board) คณะกรรมการความร่วมมือด้านสุขภาพแห่งชาติ (National Health Co-operation Board) และคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board) ซึ่งแต่ละรูปแบบมีข้อดีและข้อเสีย จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา มี นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ.เป็นประธาน รวมทั้งทำประชาพิจารณ์ และขอความเห็นร่วมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด และขัดแย้งน้อยที่สุดให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป” รมว.สธ. กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า 2.ด้านกำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งมีคณะทำงานอยู่แล้ว จึงได้มอบหมายให้ไปรวบรวมข้อมูลโดยมองภาพรวมกำลังคนด้านสุขภาพของชาติ ที่สังกัดอยู่หน่วยงานอื่นๆ นอกเหนือจาก สธ.ด้วย และดูในทุกวิชาชีพ มุ่งเน้นแก้ปัญหาในเรื่องการสร้างความก้าวหน้า ภาระงานที่หนัก เงินเดือน อัตราตำแหน่งรองรับ เพื่อรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ในระบบ จะต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน 3.ด้านความมั่นคงด้านยาและเวชภัณฑ์ เนื่องจากปัจจุบันยาที่ประเทศไทยผลิตได้เป็นยาสามัญ จึงต้องมีแผนการพัฒนาและวิจัยยาที่จะต่อยอดออกมาสู่การผลิตให้ได้

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า และ 4.ด้านระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ จะมีการจัดทำระเบียนสุขภาพส่วนบุคคล ซึ่งจะทำให้ประชาชนแต่ละคนสามารถดูรายงานสุขภาพของตนเองได้ผ่านบัตรประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าจะต้องดูแลสุขภาพของตนเองอย่างไร และสามารถนำข้อมูลส่งมอบให้สถานพยาบาลต่างๆ ในการดูแลรักษาได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุ้มค่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการพิจารณาร่วมกันว่าจะดึงข้อมูลอะไรบ้าง และมีระบบป้องกันข้อมูลอย่างไร คาดว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะข้อมูลมีจำนวนมาก และต้องดำเนินการทั้งประเทศ

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น