xs
xsm
sm
md
lg

แฉ รพ.เอกชนเรียกเก็บค่ามัดจำ 1.7 แสน รักษาผู้ป่วยสิทธิฉุกเฉิน จี้ รมว.สธ.แก้ปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้เสียหายฯ แฉ รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินค่ามัดจำ 1.7 แสน ก่อนรักษาคนไข้ จี้ รมว.สธ. แก้ปัญหานโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรี ด้านปลัด สธ. เผยตั้งทีมพิจารณาแก้ปัญหาแล้ว

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกสิทธิยังคงมีปัญหาเรื่องเมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินและไปรักษาตัวที่ รพ.เอกชนแล้วถูกเก็บค่ารักษามหาศาล ทั้งที่ภายใน 72 ชั่วโมงของการรักษาต้องฟรี และหลังจากนั้นต้องส่งกลับโรงพยาบาลตามสิทธิผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือข้าราชการ ซึ่งปัญหายังคงมีอยู่ตลอด ล่าสุด มีเคสสามีป่วยด้วยโรคความดันและไขมันในเลือดสูง มีอาการเจ็บหน้าอกมาก เข้า รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง เมื่อ ธ.ค. 2558 แพทย์ได้ทำบอลลูน และเรียกเก็บเงินมัดจำ 170,000 บาท จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด 2.6 แสนบาท ซึ่งถือว่าไม่สามารถทำได้ เพราะอาการเช่นนี้คือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่อาจส่งผลต่อชีวิต ทางภรรยาผู้ป่วยได้ขอให้ รพ. ทำเรื่องเบิกจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่ รพ.เอกชน กลับบอกว่าบางครั้งก็ไม่เข้ากรณี เมื่อถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็บอกรอเอกสารจาก รพ. ขณะที่ทาง รพ. ก็บอกให้รอ สปสช. สรุปคือ ขั้นตอนยุ่งยาก ปัญหาแบบนี้ประชาชนต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายเอง หากเป็นเช่นนี้ยกเลิกนโยบายจะดีกว่า

“ที่ผ่านมา รมว.สาธารณสุข ยังไม่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้มากนัก ทั้งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ที่ผ่านมาเคยทำเรื่องขอพบ แต่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ยังไม่เคยให้เข้าพบ ไม่รู้ว่าเพราะประชาชนไม่สำคัญหรืออย่างไร จึงอยากวอน รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญเรื่องนี้และเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว เพราะยังมีอีกหลายเคสที่ยังเป็นปัญหาอยู่” นางปรียนันท์ กล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการทำงานมาตลอด ซึ่งได้มอบหมาย พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. มาดูแลเรื่องนี้ว่ามีปัญหาและจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เบื้องต้นต้องพิจารณาหลายด้าน ทั้งการจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับคำนิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉิน” ซึ่งมีหลายระดับ หรือการแก้ปัญหาค่ารักษาที่คิดตามกลุ่มโรค เดิมได้ประสานกับทาง รพ.เอกชน โดยคิดในราคากลุ่มโรคละ 10,500 บาท แต่ รพ.เอกชน มองว่า ไม่เพียงพอ ซึ่งก็ต้องมีการหารือกันอีก และยังมีกรณีห้ามรพ.เอกชน เก็บเงินค่ารักษาเคสเจ็บป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง รวมทั้งหลังจาก 72 ชั่วโมงจะต้องส่งต่อไปยัง รพ. ในสิทธิ ซึ่งใน รพ. สิทธิบัตรทอง กับสิทธิประกันสังคม จะมี รพ. พร้อมรับ แต่ในส่วนของสิทธิข้าราชการจะไม่มี ขณะนี้กรมบัญชีกลางกำลังหาทางออกอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลสถานการณ์และผลการดำเนินงานกรณีใช้สิทธิรักษาพยาบาลภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน (EMCO) ปี 2558 มี รพ.เอกชน เข้าร่วมโครงการจำนวน 358 แห่ง โดยเป็นบริการผู้ป่วยในเข้ารับบริการ 1,275 ครั้ง คิดเป็นมูลค่า 45,704,352.78 บาท เป็นผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการ 233 ครั้ง คิดเป็นมูลค่า 1,064,371.34 บาท ส่วนเรื่องที่มีการร้องทุกข์ พบประมาณ 139 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจ่ายค่ารักษา การบริการ เป็นต้น นอกนั้นเป็นการสอบถามเรื่องต่าง ๆ ซึ่งโทร.มาที่สายด่วน สปสช. 1330 มีถึง 2,360 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิธีการใช้สิทธิและสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับบริการ รองลงมาเป็นเรื่องการตั้งเบิกเงิน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น