xs
xsm
sm
md
lg

หนุนตั้งคลินิกอดบุหรี่ใน รพ.สต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิจัยพบรูปแบบการควบคุมทางสังคมเพื่อเลิกสูบบุหรี่ เร่งพัฒนาศักยภาพ อสม. หนุนตั้งคลินิกอดบุหรี่ใน รพ.สต. ชี้ ปรับกระบวนการใช้สื่อมุ่งผู้ที่ยังไม่สูบ ป้องผู้สูบบุหรี่รายใหม่

รศ.ดร.ปรีชา อุปโยคิน ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หัวหน้าโครงการวิจัย เรื่อง รูปแบบการควบคุมทางสังคม เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ : การบูรณาการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายชุมชนกับระบบการบริการสุขภาพของรัฐระดับชุมชน สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึง รูปแบบกระบวนการควบคุมทางสังคม สำหรับการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในระดับชุมชน และสร้างกระบวนการเสริมสร้างการเลิกบุหรี่โดยชุมชนกับหน่วยงานของรัฐในระดับพื้นที่ โดยมีพื้นที่ในการศึกษาที่ ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จำนวน 9 หมู่บ้าน กลุ่มตัวอย่างจำนวน 331 คน

สำหรับการดำเนินงานควบคุมบุหรี่ในชุมชน โดยการใช้การรณรงค์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถช่วยให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่ได้ การให้บทบาทชุมชนร่วมดูแลกันเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่ช่วยให้ผู้สูบบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ ซึ่งผลการศึกษาของโครงการ พบว่า 1. สามารถสร้างศักยภาพให้กับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมูบ้าน (อสม.) ที่ทำงานในพื้นที่ ซึ่งจากการร่วมมือของ อสม. จำนวน 115 คน โดย อสม. 1 คน รับผิดชอบ ผู้สูบบุหรี่ 3 คน ได้ร่วมใจทำงานด้วยจิตอาสา เพราะเห็นว่าสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ และกลุ่มเป้าหมายเป็นคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น 2. สามารถช่วยให้ผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย เลิกสูบบุหรี่ได้ 33 คน หรือร้อยละ 10 โดยผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ประมาณครึ่งหนึ่งสามารถลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงได้ร้อยละ 45 ซึ่งผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้เกิดความภาคภูมิใจ สามารถเป็นตัวอย่างเพื่อให้ผู้ที่สูบบุหรี่อยู่เกิดแรงกระตุ้น แรงจูงใจ และมีกำลังใจเลิกสูบบุหรี่ 3. ภายหลังสิ้นสุดการทำงานในระยะเวลา 9 เดือน ทีมวิจัยได้ติดตามความต่อเนื่อง พบว่าผู้ที่เข้าร่วมโครงการที่เลิกสูบบุหรี่ได้ เลิกสูบบุหรี่อย่างถาวรไม่กลับมาสูบบุหรี่อีก และ 4. เกิดเครือข่ายผู้พยายามเลิกสูบบุหรี่มาชุมนุมกัน โดยไม่มีผู้ชักจูง แสดงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน เป็นการรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน

ดร.ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การควบคุมบุหรี่ระดับพื้นที่จะต้องมีเป้าหมาย ทราบจำนวนผู้ที่สูบบุหรี่ ตั้งเป้าที่จะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และผลักดันให้จัดตั้งโครงการช่วยอดบุหรี่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อย่างเป็นทางการ ร่วมกับการตรวจคัดกรองโรคเรื้อรังและโรคไม่ติดต่อ เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือแนะนำผู้ที่มีความสนใจที่จะเลิกสูบบุหรี่มากขึ้น และสามารถเดินทางมารับคำปรึกษาได้โดยสะดวก รวดเร็ว รวมทั้งให้ อสม. เป็นแกนนำทำงานด้วยจิตอาสา หนุนคนสูบบุหรี่ให้เลิกได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยาสมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ควรมีไว้ทุก รพ.สต.

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น