xs
xsm
sm
md
lg

ฮ่องกงคลอด กม.ห้ามสูบบุหรี่ที่สาธารณะ ลดเด็กป่วยโรคติดเชื้อในปอด ห่วงไทยมี กม.แต่อ่อนบังคับใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


วิจัยพบคลอด กม.ห้ามสูบบุหรี่ที่สาธารณะ ช่วยลดอัตราเด็กป่วยโรคติดเชื้อในปอดลง 1.3 หมื่นรายใน 6 ปี ขณะที่อัตราสูบบุหรี่ลดลงต่ำสุดในเอเชีย เผยไทยมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ที่สาธารณะทุกพื้นที่แล้ว ขาดเจ้าหน้าที่บังคับ กม.จริงจัง

ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า มีรายงานการวิจัยจากฮ่องกง พบว่า กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทุกที่สามารถลดจำนวนเด็กป่วยที่ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อในปอด 13,000 กว่ารายในเวลา 6 ปี ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวลงพิมพ์ในวารสารโทแบคโกคอนโทรล โดยการวิเคราะห์เวชระเบียนผู้ป่วยเด็ก 75,870 รายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่อยู่โรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในปอด ระหว่างเดือนมกราคม ค.ศ.2004 ถึงธันวาคม ค.ศ.2012 โดยรัฐบาลฮ่องกงได้ขยายพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ให้ครอบคลุมสถานที่สาธารณะทุกที่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ค.ศ.2007 พบว่า สถิติเด็กที่ต้องเข้าอยู่โรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างลดลง 47.4% ในปีแรก และลดลงโดยเฉลี่ย 13.9% ต่อปีใน 6 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายใหม่ เด็กในวัยเรียนมีอัตราการลดลงของการอยู่โรงพยาบาลมากกว่าเด็กก่อนวัยเรียน รายงานดังกล่าวตอกย้ำถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสองที่มีต่อเด็ก และกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในทุกสถานที่สาธารณะมีผลต่อการคุ้มครองสุขภาพจากควันบุหรี่ โดยเฉพาะในเด็ก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ภายหลังการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะทุกที่ในปี ค.ศ.2007 ตามที่อนุสัญญาควบคุมยาสูบองค์การอนามัยโลกกำหนด ฮ่องกงได้เพิ่มค่าปรับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่ห้ามสูบบุหรี่เป็น 1,500 เหรียญฮ่องกงอัตราเดียว และได้ออกกฎหมายตั้งหน่วยงานที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 100 คน ตรวจตรา และลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ทั้งนี้ มาตรการควบคุมยาสูบที่เข้มงวด ทำให้ฮ่องกงมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำที่สุดในเอเชีย โดยอัตราการสูบบุหรี่สองเพศรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 12 เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่อัตราการสูบบุหรี่เท่ากับร้อยละ 20

“กระทรวงสาธารณสุขไทยก็ได้ปรับปรุงกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ตั้งแต่ พ.ศ.2555 แต่ปัญหาคือ ไม่มีการจัดให้มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในจังหวัดต่างๆ นอก กทม. ที่ซึ่งร้อยละ 92 ของผู้สูบบุหรี่ไทยอาศัยอยู่ ทำให้ประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายห้ามสูบบุหรี่เท่าที่ควร จึงขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุข กำหนดเจ้าหน้าที่เพื่อบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบที่ชัดเจนในแต่ละจังหวัด หากต้องการที่จะคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ออกมากว่า 20 ปีแล้ว” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น