xs
xsm
sm
md
lg

ขึ้นภาษีบุหรี่ไม่กระทบ บ.บุหรี่นอก แฉมีกลยุทธ์ไม่ปรับราคาดึงคนไทยสูบ เตือนรัฐปิดช่องโหว่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอหทัย” ชี้ ขึ้นภาษีบุหรี่ ไม่กระทบ บ.บุหรี่นอกจริง แฉ มีกลยุทธ์ไม่ขึ้นราคาขายปลีกตามกลไกตลาด หวังดึงดูดคนหันไปสูบบุหรี่นอกแทนของไทย วอน “คลัง - พาณิชย์” ปิดช่องทาง ยกมาเลเซียต้นแบบออกกฎหมายบุหรี่ในประเทศต้องขึ้นราคาขายปลีกตามทั้งหมด “หมอประกิต” ชี้ ต้องออก กม. ห้ามขายบุหรี่แบบแบ่งมวนด้วย หลังพบพ่อค้าแม่ค้าแยกขาย หวังฟันกำไรจากกลุ่มเด็กเยาวชน

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550 - 2551) กล่าวถึงกรณีบริษัทบุหรี่แสดงความเห็นต่อการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ ทำให้บุหรี่ราคาแพง ซึ่งยังไม่พิจารณาจะขึ้นราคาบุหรี่ในกลุ่มบรรษัทอย่างไร ว่า เรื่องนี้น่าจับตามอง เพราะการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ประเทศไทยมีการขึ้นภาษีแล้วเป็น 10 ครั้ง หลายครั้งบริษัทบุหรี่ก็จะมีกลยุทธ์แตกต่างออกไป มีครั้งหนึ่งที่บริษัทบุหรี่ไม่ยอมขึ้นราคาขายปลีกตามกลไกตลาดที่มีการขึ้นภาษี เนื่องจากมีสายป่านที่ยาวมาก ไม่กระทบง่าย ๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคย้ายจากการสูบบุหรี่ไทยไปเป็นบุหรี่ต่างชาติแทน ถือเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดมากในการดึงส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบไทย เพราะบุหรี่ไทยต้องขึ้นราคากันหมด แต่บุหรี่นอกกลับไม่ขึ้นราคา คนก็หันไปสูบของนอกแทน

“ถ้าเป็นต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย มีกฎระเบียบบังคับให้บุหรี่ที่ขายในประเทศต้องขึ้นราคาขายปลีกตามด้วย เพื่อเป็นการควบคุมนักสูบเด็กและเยาวชน ดังนั้น จึงขอร้องให้หน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ หารือกันเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ โดยอาจออกเป็นกฎระเบียบในการดำเนินการกับกลยุทธ์เหล่านี้ เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นไปตามจริง เพราะไม่ใช่แค่มีรายได้เข้าประเทศ แต่ยังลดนักสูบที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ” นพ.หทัย กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีพ่อค้าแม่ค้าเตรียมนำบุหรี่มาแบ่งขาย หลังจากขึ้นภาษีบุหรี่ ทำให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้น เพื่อตอบสนองต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ว่า ขณะนี้ 90 ประเทศทั่วโลก มีกฎหมายห้ามแบ่งขายบุหรี่แล้ว เพราะกว่าร้อยละ 90 พบว่า ผู้ซื้อบุหรี่แบ่งขายคือเด็กทั้งสิ้น หลายประเทศจึงออกกฎหมายมาเพื่อป้องกัน แต่ประเทศไทยยังไม่มี ก็ต้องรอการออกกฎหมายก่อน จึงจะสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ ส่วนตัวมองว่าการแบ่งขายไม่ใช่การยกประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะถ้าแบ่งขายต่อมวลจะมีราคาที่แพงขึ้นกว่าซื้อเป็นซอง ผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่ร้อยละ 70 จะทราบถึงข้อนี้ดี และจะบริหารการซื้อ อาจจะซื้อวันเว้นวันยังไงก็ถูกกว่าการซื้อเป็นมวล จึงเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ค้าเองที่ต้องการกำไรมากขึ้น

ด้าน นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร (ยทก.) กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนเยาวชนไทย ขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรีที่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษี รวมถึงคณะรัฐมนตรีที่ขึ้นภาษียาสูบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชน และนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557 พบว่า เด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่แล้ว 350,000 คน โดยมีเยาวชนร้อยละ 88 ติดบุหรี่ที่ซื้อจากการแบ่งขายเป็นมวน ๆ โดยร้อยละ 64 เห็นว่า บริษัทบุหรี่ต้องการมุ่งเป้าการขายไปที่เยาวชนโดยตรง การขึ้นภาษีบุหรี่ทำให้บุหรี่แต่ละซองแพงขึ้น ถ้าไม่แบ่งซองขาย เด็ก ๆ จะไม่มีเงินซื้อ ทำให้เด็ก ๆ ติดบุหรี่น้อยลง ขณะนี้หลายประเทศอาเซียนได้มีกฎหมายควบคุมการขายบุหรี่แบบมวนแล้ว ทั้ง ลาว พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และ บรูไน

“ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนไทย ติดบุหรี่มากถึงเกือบสองล้านคนแล้ว และในเด็กไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คน จะเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต และ 3 คน ที่เลิกได้ โดยเฉลี่ยจะติดเป็นเวลา 20 ปี กว่าจะเลิกได้ จึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนหันมาจริงจังกับการที่จะร่วมปกป้องเด็กไทยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Z คือเด็กที่เกิดหลัง 1 มกราคม พ.ศ. 2543 หรือ ค.ศ. 2000 หรือ เด็กที่อายุตั้งแต่ 16 ปีลงมาไม่สูบบุหรี่ ซึ่งมีจำนวนเกือบ 12 ล้านคน ก็จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลงได้ ในขณะนี้หลายประเทศมีแผนที่จะป้องกันเด็ก Generation Z ไม่ให้สูบบุหรี่ ได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และ ฮ่องกง ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายในสังคมไทย ต้องร่วมมือกันผลักดันให้มีมาตรการต่าง ๆ เป็นจริงมากขึ้น เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ การห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ และลดการเข้าถึงบุหรี่ของเด็ก ๆ เช่น การห้ามแบ่งซองขายตามที่ที่กำหนดใน ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ ที่กำลังเสนอ สนช. พิจารณา” นายพชรพรรษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น