ตัวแทนสมาชิกร้านค้าปลีกโชวห่วยชี้ขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่รุนแรงครั้งเดียวถึง 35% ส่งผลกระทบซ้ำเติมร้านค้าจำหน่ายถูกกฎหมายในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคหันไปบริโภคของถูกของเถื่อนในตลาดมืด อีกทั้งรัฐบาลจะสูญเสียรายได้ระยะยาว
วันนี้ (10 ก.พ.) นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย ตัวแทนสมาชิกร้านค้าปลีกโชวห่วยที่ขายบุหรี่ทั่วประเทศกว่า 1,300 ราย กล่าวว่า การขึ้นภาษีสรรพสามิตในครั้งนี้ถือว่าเป็นการขึ้นภาษีที่รุนแรงมาก เพราะการขึ้นภาษีจาก 87% เป็น 90% ทำให้อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริง เพิ่มจาก 669% เป็น 900% ซึ่งถือว่าเพิ่มภาษีสรรพสามิตในครั้งเดียวถึง 35% เมื่อรวมกับภาษีตัวอื่นๆ ที่ใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นฐาน เช่น ภาษีกองทุนที่ส่งบำรุง กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนากีฬา รวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็จะทำให้ผลการปรับภาษีขึ้นในครั้งนี้มีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
นางวราภรณ์กล่าวต่อว่า เมื่อเร็วๆ นี้กระทรวงการคลังได้แถลงข่าวผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.-พ.ย. 2558) ซึ่งปรากฏว่าภาษียาสูบจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการอยู่ 1,129 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.2 ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 22.9 สาเหตุเนื่องมาจากผู้บริโภคได้เปลี่ยนมาบริโภคยาสูบราคาถูกเพิ่มมากขึ้น การที่ภาษีปรับขึ้นสูงแบบนี้จึงเป็นสิ่งที่สมาคมฯเป็นห่วง เพราะสิ่งที่จะตามมาคือ การผลักให้ผู้บริโภคหันไปหาซื้อสินค้าราคาถูกทดแทน และเปิดช่องให้บุหรี่ผิดกฎหมายขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ทั้งของเถื่อน ของลักลอบและของปลอม ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาในตลาดมากๆ
“การขึ้นภาษีในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ก็จะยิ่งทำให้พวกเราที่ขายของแบบถูกกฎหมาย ขายได้ลดลงอยู่แล้ว แต่นี่กลายเป็นเรามาถูกซ้ำเติมจากการขายแข่งกับบุหรี่ผิดกฎหมายในตลาดมืดอีก ซึ่งตรงนี้จะมีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลผลกระทบ มองว่าในระยะยาวภาครัฐเองก็จะสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีตรงนี้ไปอย่างมาก ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะคุ้มหรือไม่จากการตัดสินใจขึ้นภาษีในครั้งนี้” นางวราภรณ์กล่าว
นางวราภรณ์เปิดเผยด้วยว่า จากข้อมูลของกรมศุลกากรแสดงตัวเลขการจับกุมการค้าบุหรี่ผิดกฎหมายในช่วงปีงบประมาณ 2557-2558 มีปริมาณบุหรี่ผิดกฎหมายที่จับกุมได้ทั้งสิ้น 46,016,084 ซอง สำหรับส่วนของกรมสรรพสามิตก็มีการจับกุมดำเนินคดีในสินค้าบุหรี่ผิดกฎหมายเช่นกันโดยในปี 2557 สรรพสามิตจับกุมดำเนินคดีได้ทั้งสิ้น 17,909 คดี รวมมูลค่าเสียหายทางภาษี 320 ล้านบาท และในปี 2558 รวม 16,599 คดี มูลค่า 299 ล้านบาท สาเหตุที่ทำให้มีการลักลอบบุหรี่ผิดกฎหมายมากขึ้นก็เพราะการขึ้นภาษีที่สูงเกินไปทำให้ช่องว่างของราคาสินค้าที่ถูกกฎหมายกับผิดกฎหมายห่างกันมากขึ้น อีกทั้งยังคงมีช่องว่างระหว่างการเก็บภาษีบุหรี่โรงงาน กับภาษียาเส้นที่มีอัตราการเก็บที่น้อยมากอยู่ กว่าร้อยละ 50 ของผู้สูบบุหรี่ไทยเป็นกลุ่มยาเส้น
“หน่วยงานภาครัฐก็คงต้องออกมาดูในระยะยาวว่าจะจัดการกับปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอย่างไรให้ได้ตรงจุดมากที่สุด แต่ที่แน่ๆ ธุรกิจขนาดเล็กอย่างร้านค้าปลีกรายย่อยคงได้รับผลกระทบอย่างทันทีหลังจากการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้” นางวราภรณ์ระบุ