xs
xsm
sm
md
lg

สร้างกังหันลม-เซลล์แสงอาทิตย์ ให้ ร.ร.เกาะพยาม มีไฟใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จังหวัดระนอง เป็นจังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันตกของภาคใต้ ได้ชื่อว่าเป็นเมือง “ฝนแปด แดดสี่” คือ มีฝนตก 8 เดือน และฝนแล้งเพียง 4 เดือน มีคำขวัญประจำจังหวัด คือ คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง และด้วยพื้นที่ของจังหวัดติดทะเลอันดามัน และมีเกาะน้อยใหญ่มากมาย หนึ่งในนั้น คือ เกาะพยาม ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ รองลงมาจากเกาะช้าง (ระนอง) ลักษณะทางภูมิศาสตร์ รอบ ๆ ชายฝั่งเป็นอ่าวสลับกับโขดหิน บริเวณตอนกลางของอ่าวเป็นหาดทราย และด้วยพื้นที่เป็นเกาะทำให้ไฟฟ้าในบางส่วนยังเข้าไม่ถึง ดังนั้น กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ร่วมมือกับพลังงานจังหวัดระนอง เข้าไปสำรวจและพบว่า ตัวเกาะตั้งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 30 กิโลเมตร ได้รับอิทธิพลลมทะเลฝั่งอันดามันพัดผ่านตลอดทั้งปี ซึ่งจากการวัดแรงลมในพื้นที่ปี 2557 พบว่า มีค่าความเร็วลมประมาณ 2.7 เมตรต่อนาที และข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ระบุความเร็วลมเฉลี่ยบนเกาะพยามในปี 2553 ที่ประมาณ 3.0 เมตรต่อวินาที จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนโดยเฉพาะพลังงานจากลม เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้โดยเฉพาะโรงเรียนเกาะพยาม เพราะเป็นพื้นที่ขาดแคลนไฟฟ้า เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่

กองทุนฯ ได้สนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการเทคโนโลยีกังหันลมผลิตไฟฟ้า ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชนในส่วนของการสนับสนุนแบบให้เปล่า ณ โรงเรียนบ้านเกาะพยาม ต.เกาะพยาม อ.เมือง จ.ระนอง โดยมี ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดกังหันลมผลิตไฟฟ้า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กล่าวว่า กองทุนฯ ได้ให้งบประมาณติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาด 1 กิโลวัตต์ จำนวน 5 ชุด รวมกำลังผลิต 5,000 วัตต์ ชนิดไม่เชื่อมต่อสายส่ง (stand alone) โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกเก็บในแบตเตอรี่ขนาด 130 แอมป์ - ชั่วโมง จำนวน 8 ลูก เชื่อมต่อระบบอินเวอร์เตอร์เพื่อแปลงไฟฟ้ากระแสตรงเป็นกระแสสลับสำหรับนำมาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าและระบบแสงสว่างของอาคารเรียนและห้องพักครูของโรงเรียนเกาะพยาม ระบบดังกล่าวสามารถผลิตไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 3,300 หน่วยต่อปี ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 12,000 บาทต่อปี จากงบประมาณการลงทุน 960,000 บาท ระยะเวลาในการคืนทุน 20 ปี เมื่อนำไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมยังเชื่อมต่อกับระบบไฟกับพลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2545 โดยติดตั้ง 2 จุด กำลังการผลิต 2,100 วัตต์ และ 3,000 วัตต์ ซึ่งเพียงพอต้องความต้องการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียน โดยไม่จะเป็นต้องพึ่งพาเครื่องปั่นไฟฟ้าจากเครื่องยนต์

นายปรีชา อักษรพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะพยาม กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเกาะพยาม เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รวม 91 คน มีครูและบุคลากรอื่น ๆ รวม 6 คน ด้วยพื้นที่ตั้งเป็นเกาะทำให้ไม่ได้อยู่ในเขตบริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ต้องใช้ไฟฟ้า เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ดังนั้น จากการที่ทางกองทุนฯ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการดังกล่าวส่งผลให้โรงเรียนเกาะพยามมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% ประโยชน์ที่ได้จากส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนในระดับชุมชนนอกจากกระแสไฟฟ้า ยังเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตและโอกาสที่ดีขึ้นให้กับชุมชนแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพิ่มองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนให้ครู นักเรียน และประชาชนทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น