xs
xsm
sm
md
lg

“19 บริษัท” พลังงานลมเฮสนั่น เลขาฯ ส.ป.ก.อนุมัติให้เดินหน้าต่อได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ได้ข้อสรุปแล้ว “19 บริษัท” ติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก เดินหน้าต่อได้ หลังเลขาธิการ ส.ป.ก.ลงลุยพื้นที่พบความจริงเกษตรกรได้ประโยชน์ทั่วหน้า แถมยังเรียกร้องให้เอกชนไปลงโครงการในที่ดินของตัวเอง พร้อมเตรียมปรับขึ้นค่าเช่าที่ดินใหม่ ส่วน “เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม” แนะให้ยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินเข้ามาใหม่ เนื่องเพราะถูกฟ้องขณะที่โครงการยังไม่เกิด!

หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกโครงการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก.ของบริษัท เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม จำกัด เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง สร้างความแตกตื่นให้ผู้ประกอบการธุรกิจลักษณะเดียวกันอีก 19 บริษัทที่เหลืออยู่ไม่น้อย ยิ่งเมื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกมาฟันธงว่าต้องยกเลิกทุกโครงการ พร้อมประกาศกร้าวไม่ต้องการให้เอกชนเข้าพบและให้ไปพบเลขาธิการ ส.ป.ก แทน ยิ่งเสมือนเป็นการเติมเชื้อไฟให้กับนักธุรกิจกลุ่มดังกล่าว จนดูเหมือนสิ้นหวัง และเชื่อว่าหนทางเดียวที่จะช่วยได้ก็คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะต้องใช้มาตรา 44 สั่งการให้โครงการเหล่านี้ดำเนินการต่อไปได้

ส่วนความจริงวันนี้ หลังจากที่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.ลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริง จึงทำให้เลขาธิการ ส.ป.ก. มั่นใจ และบอกชัดเจนว่า 19 โครงการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก.สามารถดำเนินการต่อไปได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเกษตรกรได้ประโยชน์จากโครงการนี้ พร้อมชี้ช่องทางให้ บริษัท เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม หากอยากทำโครงการใหม่สามารถยื่นความจำนงต่อ ส.ป.ก.ได้เช่นกัน
นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)
19 โครงการเดินหน้าต่อได้

นายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยถึงผลการลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ จ.ชัยภูมิ และนครราชสีมา ว่า จากการตรวจสอบพบว่า ทั้งหมดดำเนินการถูกต้องตามสัญญา และเป็นโครงการที่เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ได้ประโยชน์ ทั้ง 19 บริษัทจึงสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้

“ผมและทีมงานลงไปพูดคุยสอบถามข้อมูลจากทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ ผู้ประกอบการที่ติดตั้งกังหันลม และเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จังหวัด ได้ข้อสรุปว่านอกจากค่าเช่า 35,000 บาท/ไร่/ปี ที่เอกชนจ่ายให้แก่สำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ แล้ว เอกชนยังจ่ายค่าชดเชยและจัดสรรประโยชน์ให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกรพึงพอใจมาก”

เลขาธิการ ส.ป.ก. บอกอีกว่า เวลานี้ชาวบ้านต่างอยากให้กังหันลมมาตั้งในที่ดินของตัวเอง อีกทั้งบางพื้นที่ก็ได้มีการมาสอบถามว่าเมื่อไหร่โครงการติดตั้งกังหันลมฯ จะเริ่ม เนื่องจากเกษตรกรจะได้ค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่เป็นกอบเป็นกำ บางรายได้ปีละเป็นแสน ขณะที่ยังทำการเกษตรได้ตามปกติ เพราะการติดตั้งกังหันลมใช้พื้นที่นิดเดียว นอกจากนั้นยังมีถนนตัดเข้าพื้นที่ ลูกเต้าเจ็บป่วยก็ไปโรงพยาบาลได้สะดวกขึ้น

ส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลกันก่อนหน้านี้ก็คือแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการทำงานของกังหันลม ซึ่งจากการสำรวจชาวบ้านยืนยันว่าไม่ได้รับผลกระทบในจุดนี้

เรื่องมลภาวะทางเสียงขณะที่กังหันลมทำงาน พบว่ามีปัญหาเสียงดังจริง แต่เท่าที่คุยกับชาวบ้านเขาบอกว่าอยู่ไปสักพักก็จะปรับตัวได้ และเสียงไม่ได้ดังตลอดเพราะกังหันลมจะหมุนเป็นช่วงๆ ดังนั้นเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามสัญญา และเป็นโครงการที่เกษตรกรได้ประโยชน์จริง เราก็อนุญาตให้เอกชนดำเนินการต่อไปได้ และจะสรุปข้อมูลทั้งหมดเสนอ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป” เลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุ

เกษตรกรรับค่าชดเชยหลายเด้ง

เลขาธิการ ส.ป.ก. ยังแจกแจงถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับจากผู้ประกอบการที่ติดตั้งกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ประกอบด้วย

1. ค่าตอบแทน ได้แก่ ค่าใช้พื้นที่รอบจุดติดตั้งกังหันลม รัศมี 1 ไร่ จำนวน 35,000 บาท/ไร่/ปี, ค่าตอบแทน สำหรับพื้นที่รอบจุดติดตั้งกังหันลม ถัดจากรัศมี 1 ไร่ ออกมา 88 เมตร จำนวน 5,000 บาท/ไร่/ปี, ค่าตอบแทนสำหรับพื้นที่รอบจุดติดตั้งฯ ถัดจากรัศมี 1 ไร่บวก 88 เมตร ออกมา 225 เมตร จำนวน 3,500 บาท/ไร่/ปี และค่าตอบแทนสำหรับพื้นที่รอบจุดติดตั้งฯ ถัดจากรัศมี 1 ไร่บวก 313 เมตรออกมา รับอีก 2,000 บาท/ไร่/ปี ทั้งนี้การติดตั้งกังหันลมแต่ละต้นระยะห่างไม่เท่ากัน จุดติดตั้งขึ้นกับทิศทางลม บางพื้นที่จึงได้ค่าตอบแทนสำหรับระยะต่างๆ ทับซ้อนกัน อีกทั้งเกษตรกรซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นที่ติดตั้งกังหันลม แต่อยู่ในเขต ส.ป.ก. และอยู่ในวงรอบรัศมีที่กำหนดจ่ายค่าตอบแทน ก็จะได้รับค่าตอบแทนด้วย

2. บริษัทเอกชนมีการตัดถนนเข้าพื้นที่ ทำให้เกษตรกรทั้งที่อยู่ในและนอกเขตเดินทางสะดวกขึ้น และขนส่งผลผลิตทางการเกษตรได้ง่ายขึ้น

3. เกษตรกรสามารถทำเกษตรรอบจุดติดตั้งกังหันลมได้ตามปกติ โดยการติดตั้งเสากังหันลมแต่ละจุดนั้นใช้พื้นที่เพียง 2 งานเท่านั้น

4. เกษตรกรได้ประโยชน์จากกองทุน 2 แห่ง คือ กองทุนพลังงาน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนที่เข้าใช้พื้นที่กับกระทรวงพลังงาน และกองทุนเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งเอกชนที่ใช้พื้นที่จะจ่ายเงินเข้ากองทุนของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และ ส.ป.ก.จะนำเงินตรงนี้มาใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆ ในพื้นที่ ส.ป.ก. เช่น พัฒนาแหล่งน้ำ

ส.ป.ก.เตรียมขึ้นค่าเช่าเข้าทำประโยชน์ที่ ส.ป.ก

ด้าน นายชำนาญ กลิ่นจันทร์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา อธิบายถึงขั้นตอนการดำเนินโครงการติดตั้ง กังหันลมเพื่อผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ ส.ป.ก. ว่า ก่อนที่จะเริ่มโครงการ บริษัทเอกชนจะเข้าไปสำรวจจนแน่ใจว่าจุดไหนมีลม เหมาะสมที่จะตั้งเสากังหันลม จากนั้นจึงเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อเห็นว่าโครงการมีความเป็นไปได้จึงยื่นเรื่องต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อเสนอโครงการและขอใช้พื้นที่ เมื่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินฯ อนุมัติโครงการแล้ว เอกชนจะต้องเข้าไปประชุมประชาคมเพื่อชี้แจงโครงการและนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆที่ชาวบ้านจะได้รับ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน ซึ่งอาจจะมีการประชุมหลายครั้งจนกว่าจะได้ข้อสรุป เมื่อได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วจึงเริ่มทำสัญญาเช่าพื้นที่จาก ส.ป.ก. และเริ่มดำเนินโครงการ

“อัตราค่าเช่าที่เอกชนจ่ายให้แก่ ส.ป.ก. เริ่มต้นที่ 35,000 บาท/ไร่/ปี แต่จะต้องมีการปรับใหม่ทุก 5 ปี โดยโครงการที่โคราชส่วนใหญ่เริ่มประมาณเมื่อปี 2552 ใช้เวลาเตรียมการ 2 ปี เข้าใช้พื้นที่ประมาณปี 2555 ถึงตอนนี้ครบ 5 ปีแล้ว ทาง ส.ป.ก.กำลังพิจารณาปรับอัตราค่าเช่า ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะขึ้นเท่าไหร่” นายชำนาญ ระบุ

อย่างไรก็ดีบริษัทที่ขอเช่าพื้นที่ ส.ป.ก. เพื่อติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้า ในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ มีทั้งหมด 20 บริษัท (พื้นที่ประมาณ 660 ไร่) แบ่งเป็น จ.นครราชสีมา 7 บริษัท (เนื้อที่ 280 ไร่) คือ บริษัท เฟิร์ส โคราช วินด์, บริษัท เค อาร์ ทู บริษัท เทพารักษ์ วินด์, บริษัท ทรอปิคอล วินด์, บริษัท เค อาร์ เอส ทรี, บริษัท กฤษณา วินด์ พาวเวอร์, บริษัท เค อาร์ วัน โดยในจำนวนนี้มี 2 บริษัทที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้แก่การไฟฟ้าแล้ว ส่วนอีก 5 บริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ส่วน จ.ชัยภูมิ มี 13 บริษัท (พื้นที่ 380 ไร่) ได้แก่ บริษัท เทพพนา วินด์ฟาร์ม จำกัด, บริษัท ซับใหญ่ วินด์ฟาร์ม(1) จำกัด, บริษัท ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม, บริษัท บ้านกังหัน จำกัด, บริษัท บ้านไร่ วินด์ฟาร์ม จำกัด, บริษัท วะตะแบก วินด์ จำกัด, บริษัท เค อาร์ เอส ทรี จำกัด, บริษัท นายางกลักพัฒนา จำกัด, บริษัท นายางกลักพลังงานลม จำกัด, บริษัท โป่งนกพัฒนา จำกัด, บริษัท เบญจรัตน์พัฒนา จำกัด, บริษัท ชวนพัฒนา จำกัด ซึ่งในจำนวนนี้ มีโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง 6 บริษัท เริ่มก่อสร้าง 4 บริษัท ส่วนอีก 2 บริษัทยังไม่เริ่มก่อสร้าง รวมถึงบริษัท เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม จำกัด ซึ่งถูกยกเลิกโครงการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

แนะ “เทพสถิต” ยื่นขออนุญาตใหม่ได้

ส่วนกรณีของบริษัทเทพสถิตที่ถูกยกเลิกโครงการไปนั้น เลขาธิการ ส.ป.ก. ชี้แจงว่า เป็นการยื่นฟ้องหลังจากเทพสถิตได้รับอนุมัติโครงการจาก ส.ป.ก. แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินโครงการ ยังไม่มีการก่อสร้าง เทพสถิตจึงยังไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่ให้เกษตรกร ดังนั้นศาลปกครองซึ่งพิจารณาตามหลักฐานจึงชี้ว่าเกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์จากบริษัท เทพสถิต และมีคำสั่งยกเลิกโครงการในที่สุด

หลังถูกฟ้องเทพสถิตก็ชะลอโครงการไว้ก่อน ไม่ได้ทำอะไร ส่วนบริษัทอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกฟ้องเขาก็ดำเนินการของเขาไป ปัจจุบันบางบริษัทสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้แล้ว บางบริษัทก็ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง กรณีของเทพสถิตผมว่าเขาคงโชคไม่ดี ตอนนี้เทพสถิตก็ต้องดำเนินการตามคำสั่งศาลคือยุติโครงการไป แต่เชื่อว่าเขาคงไม่ฟ้องร้อง ส.ป.ก. เนื่องจากยังไม่มีการก่อสร้างโครงการ ส่วนหลังจากนี้หากเทพสถิตยังต้องการทำโครงการอยู่ก็สามารถยื่นเรื่องให้ ส.ป.ก.พิจารณาได้ ทุกอย่างก็ว่ากันไปตามขั้นตอน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร” นายสมปองกล่าว

ดังนั้นกรณีเอกชนเข้าใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ดำเนินโครงการพลังงานทดแทน ซึ่งทำท่าจะมีปัญหาถึงขั้นต้องโละทิ้งทั้งหมด ขณะที่ภาครัฐตั้งแต่ระดับบริหารถึงระดับปฏิบัติการเงื้อง่าราคาแพงกันอยู่หลายยก ก็จบลงอย่าง “แฮปปี้เอนดิ้ง” โดยเฉพาะโครงการที่ “นักการเมืองขาใหญ่แห่งโคราช” หนุนหลัง ยังคงเดินหน้าฉลุย ฟันกำไรกันอีกยาว ว่ากันว่าในยุคก่อตั้งโครงการ อัตราจ่ายใต้โต๊ะนั้นหนักหนาเอาการ อยู่ที่ “1 เมกะวัตต์ ต่อ 1 กิโลกรัม” แต่มาถึงยุคปัจจุบันจะยังมีวัฒนธรรมดังกล่าวนี้อยู่หรือไม่ ไม่มีใครรู้!

กำลังโหลดความคิดเห็น