xs
xsm
sm
md
lg

ขยะประชานิยม ยังจำแท็บเล็ตแจกเด็ก ป.1 ได้ไหม ?/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ยังจำได้ไหมถึงโครงการแจกแท็บเล็ตเด็ก ป. 1 โครงการประชานิยมที่ล้มไม่เป็นท่า และกลายเป็นซาก สร้างภาระให้สังคมอย่างมากมาย

ในยุคของรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีนโยบายแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1 ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสม หรือไม่เหมาะสม และไม่มีการเตรียมความพร้อมรองรับในทุกด้าน จนกลายเป็นปัญหาให้กับวงการศึกษาไทย และเด็กก็ตกเป็นเหยื่ออีกครั้ง

ดิฉันจำได้ว่าครั้งนั้นแม้มีนักวิชาการดาหน้าออกมาคัดค้าน และแสดงความไม่เห็นด้วย แต่รัฐบาลขณะนั้นก็เดินหน้าไม่สนใจ และก็แจกเด็กไปทั่วประเทศ พอเข้าสู่ปีที่ 2 ก็ทำท่าจะแจกเพิ่มอีก แต่มามีปัญหาเรื่องการสั่งผลิตจากจีนที่ไม่สามารถผลิตได้ทันตามกำหนดระยะเวลา จนเมื่อมาถึงรัฐบาลชุดคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยกเลิกโครงการนี้ไปในที่สุด

นับเป็นบุญของประเทศอยู่บ้าง ที่ผู้นำขณะนั้นได้สั่งยกเลิกโครงการ อย่างน้อยก็ทำให้หยุดความเสียหายไว้แค่ที่มี

แต่แค่ไอ้ “แค่ที่มี” มันก็หนักหนาสาหัสเอาการอยู่ !

ดิฉันหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะได้มีโอกาสเห็นสภาพของเจ้าแท็บเล็ตที่ปัจจุบันเริ่มกลายเป็นขยะอิเลคทรอนิคส์ที่สร้างปัญหาอย่างมากให้กับบ้านเรา เพราะโดยสภาพของเครื่องที่ตอนนี้ล้วนไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้ต้องกองเป็นขยะจำนวนมาก กลายเป็นซากแบบครบชุดคือทั้งแท็บเล็ต และอุปกรณ์เสริม

ผู้บริหารสถานศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้ไม่มีใครใช้แท็บเล็ตเครื่องที่ได้รับแจกมาฟรีแล้ว เพราะเสียหมด มีทั้งที่ยังไม่ได้ใช้เลย และที่ใช้ไม่ได้ แต่สรุปก็คือ ตอนนี้ไม่ได้ใช้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับสถานศึกษาอีกหลายแห่ง ด้วยหลากหลายสาเหตุ

“มีปัญหาหน้าจอ เครื่องค้างและเสียบ่อย ทำให้ต้องส่งไปซ่อมที่ศูนย์เครือข่ายที่เขากำหนดไว้ แต่ก็นานมาก บางทีก็ต้องส่งไปร้านอื่น ซึ่งก็ต้องจ่ายเงินค่าซ่อมเอง ตอนนี้เครื่องที่เสียก็เลยไม่ได้เอาไปซ่อม เพราะไม่รู้ว่าใครจะจ่ายค่าซ่อม”

ส่วนเรื่องการเชื่อมต่อสัญญาณไวไฟ (Wi Fi) ก็เป็นอีกปัญหาอยู่เหมือนเดิม สุดท้ายตอนนี้ก็เลยกองเป็นขยะอยู่ในห้องเก็บของ

ความจริงประเด็นเหล่านี้ก็พอเข้าใจได้ และก็ถูกประมินก่อนหน้านี้จากบรรดานักวิชาการแล้วว่า ผลกระทบของโครงการนี้ที่ไม่ได้มีมาตราการใด ๆ รองรับ จะต้องมีมากมายมหาศาล ยิ่งปัจจุบันนี้ขยะอิเลคทรอนิคส์ในบ้านเรากำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ และกำลังจะติดอันดับโลก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข

ตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์ปี 2555 พบว่า มีประมาณ 359,070 ตัน ร้อยละ 50.38 ของปริมาณของเสียอันตรายชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นประมาณ 712,770 ตัน

โดยสถิติขยะอิเล็กทรอนิกส์ในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า แนวโน้มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่นิยมใช้ในครัวเรือนมีเพิ่มขึ้น เช่น โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์/เครื่องโทรสาร และโทรศัพท์มือถือ

ส่วนคอมพิวเตอร์ มีการใช้งาน 2.8 ล้านเครื่อง โดยอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือ มีอายุเฉลี่ย 3 ปี ทีวีจอซีอาร์ที หรือจอก้นยาว มีอายุเฉลี่ย 6.9 ปี และโทรทัศน์จอบาง มีอายุเฉลี่ย 3.8 ปี คอมพิวเตอร์ มีอายุเฉลี่ย 3.65 ปี ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2559 จะมีซากทีวีเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2.8 ล้านเครื่อง โทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์อีกประมาณ 10.9 ล้านเครื่อง และ 2.6 ล้านเครื่อง ตามลำดับ

นั่นหมายความว่า ตัวเลขประมาณการณ์ขยะอิเลคทรอนิคส์ขณะนั้น ยังไม่ได้รวมเจ้าแท็บเล็ตประชานิยมอีกประมาณ 1 ล้านเครื่อง

ในขณะที่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของสารพิษประเภทโลหะหนักที่มีมาก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอทแคดเมียม สารหนู กำมะถัน และสารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจอมอนิเตอร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยทั่วไปมีตะกั่วเป็นองค์ประกอบสูงถึงร้อยละ 6

ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็ตามมาอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ตะกั่วทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด และการพัฒนาสมองของเด็ก ฯลฯ

ยังไม่นับรวมถึงปัญหาเรื่องสายตา เรื่องพัฒนาการของเด็ก และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย

สงสารเด็กไทยที่ต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำ ๆ กับนโยบายประชานิยม และนโยบายที่ไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองที่เหมาะสมกับการพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง

แม้เลิกแล้ว ก็ยังเหลือเป็น “ขยะ” ภาระสังคมอีก !

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น