เมืองไทย 360 องศา
เริ่มเป็นรูปเป็นร่างออกมาแล้วสำหรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด หรือที่เรียกกันว่า “ฉบับมีชัย” เนื่องจาก มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างฯ โดยเบื้องต้นมีการแย้มออกมาให้เห็นแล้วว่ามีจำนวนทั้งหมด 13 หมวด 261 มาตรา
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นจะยกตัวอย่างเนื้อหาที่น่าสนใจในบางหมวด บางมาตรา อาทิ หมวด 8 คณะรัฐมนตรี ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม
ในมาตรา 171 ระบุว่า รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 174 (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทน (3) คณะรัฐมนตรีลาออก (4) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตามมาตรา 146
มาตรา 172 ระบุให้ ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1.ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 171 (1) หรือ (3) และเป็นกรณีไม่เกี่ยวกับการทุจริต ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ แต่หากพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 171 (4) หรือเป็นกรณีเกี่ยวกับการทุจริต ครม.ที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ (2) ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 171 (2) ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ในกรณีที่ ครม.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ตาม (1) หรือคณะรัฐมนตรี (2) ลาออกทั้งคณะ และเป็นกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีเฉพาะเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี
ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ระบุไว้ชัดเจนกรณีรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลจะสิ้นสุดลง ในมาตรา 174 ที่ระบุว่า ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ หรือรอการกำหนดโทษ เว้นแต่ในความผิดอันกระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(4) สภาผู้แทนมีมติไม่ไว้วางใจ (5) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 162 (6) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 187/4 หรือมาตรา 187/5 (7) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 175 นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามวรรค 1 แล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 160 วรรค 4 ด้วย
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการคือ การมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างกว้างขวาง เช่นมาตรา 239 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย (2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ (3) พิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 213 มาตรา 218 (1)
(4) หน้าที่และอำนาจอื่นตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ การยื่นคำร้องและเงื่อนไขการยื่นคำร้อง การพิจารณาวินิจฉัยและการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญนอกจากที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ในมาตรา 240 วรรคท้ายยังระบุไว้ด้วยว่า ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา ครม. ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
มาตรา 241 บัญญัติว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
นี่เพียงแค่ตัวอย่างบางช่วงบางตอนเท่านั้น ยังไม่นับเรื่องที่มีบทบัญญัติสำหรับการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่กำหนดคุณสมบัติป้องกันอย่างเข้มข้น เช่น ห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาเกี่ยวกับการทุจริต หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายจะห้ามเข้าสนามการเมืองตลอดชีวิต ป้องกันสภาผัวเมีย เครือญาติเข้ามาสืบทอดอำนาจ
คำยืนยันการให้สัมภาษณ์ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ย้ำว่า รัฐธรรมนูญใหม่จะมีการสร้างกลไกเพื่อสกัดกั้นกลโกง การทุจริตซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่กัดกร่อนประเทศมานาน โดยในอนาคตหากพบว่ามีโครงการใดที่มีการทุจริตต่อหน้าที่และทุจริตการเลือกตั้งคนพวกนี้ก็จะพ้นจากการเมืองไปทั้งคณะตลอดชีวิต และมีการนำเอาเรื่องวินัยการเงินการคลังมาพิจารณาด้วยเพื่อป้องกัน “ประชานิยม” โดยจะออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้เสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้ง นอกจากนี้ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยากเสียด้วย
เมื่อได้เห็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันแล้ว แม้ว่ายังต้องมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนขัดเกลากันอีกครั้งโดยจะลดมาตราให้เหลือแค่ 250 มาตรา ซึ่งจะเห็นร่างแรกในราวปลายเดือนมกราคมนี้ จากนั้นก็นำไปสู่การลงประชามติกันเลย ซึ่งก็กำหนดเอาไว้ในเดือนเมษายนปีนี้
หันมาทางฟากพรรคการเมืองบ้าง แน่นอนว่าเมื่อได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องร้องจ๊าก ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นร่างที่ตัดทางหากินอย่างอิสระเหมือนแต่ก่อน ประเภทชูนโยบายประชานิยมเพื่อใช้งบประมาณรัฐมาซื้อเสียงนั้นทำยากและเสี่ยงต่อคุกและจบอนาคตทางการเมืองตลอดชีวิต
อย่างไรก็ดี สำหรับพรรคการเมืองที่ผวาและต้องต่อต้านมากที่สุดก็คือ พรรคเพื่อไทย หลังจากพรรครัฐธรรมนูญเปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดได้อย่างกว้างขวาง สามารถชี้ให้ ครม., ส.ส., ส.ว.ที่กระทำผิดพ้นจากเก้าอี้ นี่ก็ถือว่าเป็นการ “ถ่วงดุล” อีกแบบหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาระบบรัฐสภาไม่มีการถ่วงดุลได้จริง เพราะสภา หรือ ส.ส.ในความเป็นจริงก็คือ “ลูกน้อง” หรือ “ขี้ข้า” ของนายกฯ ที่เป็นเจ้าของเสียงข้างมากเท่านั้น
ประเด็นที่พวกพรรคการเมืองยกมาดิสเครดิตรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คือจะอ้างเรื่อง “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” เช่น นายกฯ คนนอก ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นต้น ก็อาจจะใช่หากวัดกันรูปแบบเดิมๆ แต่ที่ผ่านมา ส.ว.พวกนี้มันไร้ความหมายไม่มีคุณค่าอะไรอยู่แล้ว
ดังนั้น หากพิจารณาจากเนื้อหาเท่าที่เห็นถือว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยรวมถือว่าโอเค หากสามารถประกันที่มาขององค์กรอิสระ องค์กรตรวจสอบให้มีความเป็นอิสระจริงๆ และที่สำคัญคณะกรรมการยกร่างฯต้องอธิบายให้ชาวบ้านได้เข้าใจ และมองเห็นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กีดกันนักการเมืองชั่วๆ ออกไปให้มากที่สุด และต้องไม่ปล่อยให้นักการเมืองบิดเบือน ขณะเดียวกันก็ต้องไม่มีการ “หมกเม็ด” เพื่อหวังสืบทอดอำนาจให้กับ “ใคร” ที่คิดใช้ทางลัดเข้ามาอีก เพราะจะทำให้ทุกอย่างที่จะลงเอยด้วยดีอยู่แล้วต้องติดลบลงไปอีก!