xs
xsm
sm
md
lg

ยัน พ.ร.บ.กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจไม่ใช่การแปรรูป “คลัง” ปลอบสหภาพฯ และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงการคลังย้ำการเสนอร่าง กม.กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจต่อซูเปอร์บอร์ด 18 ม.ค.นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การแปรรูป ยังคงสภาพแรงงานฯ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพื่อวางกรอบการทำงานระยะยาว และป้องกันการเมืองแทรกแซง

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.จะนำเสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ... เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาในวันที่ 18 มกราคม 2559 และคาดว่าจะสามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในเดือน ม.ค.นี้ จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดถ้อยคำของร่างกฎหมายโดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่งกลับเข้ามาให้ ครม.อนุมัติอีกครั้ง ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นกฎหมายออกมาบังคับใช้ได้ราวเดือน ก.ค.59

กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) ตามมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง รวมทั้งจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่า และประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทร่างกฎหมายดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดยอนุกรรมการพัฒนาระบบกำกับดูแลและระบบบรรษัทภิบาลของรัฐวิสาหกิจ และคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ซึ่งมี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน

กรณีดังกล่าวได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น โดยได้นำข้อสังเกต และความเห็นจากการสัมมนาดังกล่าวมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้มีความเหมาะสมด้วยแล้ว

ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวย้ำว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจโดยการจัดทำกฎหมายนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันมีผลเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในระยะยาว

ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวด้วยว่า จะนำหลักของการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งการที่จะเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีได้นั้น จะประกอบไปด้วยสิ่งสำคัญ 5 ประการ คือ 1.มีกฎกติกาที่ชัดเจน 2.มียุทธศาสตร์การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ 3.มีความโปร่งใสในการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจ 4.มีความรับผิดชอบที่ชัดเจน และ 5.การเข้ามามีส่วนร่วม

“กฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูป กฎหมายฉบับนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนจริงๆ ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การแปรรูป ซึ่งรัฐวิสาหกิจยังคงเดิมอยู่ทุกอย่าง แค่เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้โปร่งใส ซึ่งประโยชน์ที่แต่ละรัฐวิสาหกิจจะได้รับนั้นจะทำให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งเมื่อรัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง ก็จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาวได้มากขึ้น”

สำหรับความคืบหน้าเรื่องการดำเนินโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนภายใต้โครงการ PPP Fast Track ใน 5 โครงการ ผู้อำนวยการ สคร.กล่าวว่า ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 56,725 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่าโครงการ 54,768 ล้านบาทนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สคร.ซึ่งคาดว่า สคร.จะพิจารณาแล้วเสร็จ และสามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้ตามกำหนดในเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่าจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายใน มี.ค.นี้

“สายสีชมพู สีเหลืองเราตั้งใจจะเสนอกรรมการ PPP ให้ทันภายใน ก.พ. มีสายสีน้ำเงินที่ตอนนี้กำลังตามอยู่ เพราะเดิมกำหนดไว้ว่ากระทรวงคมนาคมจะส่งมาให้ภายในเดือน ธ.ค. ตอนนี้ยังไม่ส่งมา เราได้ส่งจดหมายไปตามแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นการพิจารณาจะล่าช้าออกไป เพราะเดิมเรามี date line กันไว้ว่าภายใน ธ.ค.58 กระทรวงเจ้าสังกัดจะต้องอนุมัติ และส่งมาที่ สคร. พอ สคร.อนุมัติจะต้องนำเสนอกรรมการ PPP ภายใน 2 เดือน ตอนนี้สายสีชมพู และสีเหลืองส่งมาให้เราแล้ว ยังขาดสีน้ำเงิน ส่วนมอเตอร์เวย์ 2 สายคาดว่าจะเป็น มิ.ย.59”

โดยก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ PPP ได้อนุมัติคัดเลือก 5 โครงการลงทุนแรกที่จะเสนอให้เป็น PPP Fast track เพื่อผลักดันให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วขึ้น โดยจะพยายามทำให้ขั้นตอนทุกอย่างบรรลุภายในช่วงครึ่งแรกของปี 59 โดยคาดว่าจะเปิดประกวดราคาให้ได้ภายใน พ.ค.59

ด้าน นายณัฐวุฒ ไพศาลวัฒนา รองโฆษก สคร.ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจตามร่างกฎหมายนี้จะเป็นการยกระดับการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยให้มีความชัดเจน โปร่งใส และสอดคล้องต่อหลักธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ได้แก่ การจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นองค์กรหลักในการรับผิดชอบรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจเพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติ การประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรม และสอดคล้องต่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนมีการสร้างความโปร่งใสให้แก่กลไกการแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองที่ไม่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสที่จะนำรัฐวิสาหกิจไปใช้ในการดำเนินนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. …. เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด วันที่ 18 มกราคม 2559 นี้ โดยขอย้ำว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการนำหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (Good Corporate Governance) ตามมาตรฐานสากลมาปรับใช้กับรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง

สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างรอบคอบ และโปร่งใส โดยย้ำว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จึงไม่มีผลกระทบต่อสถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจ และสภาพการจ้างของพนักงานรัฐวิสาหกิจแต่ประการใด เพื่อต้องการยกระดับการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยให้มีความชัดเจน โปร่งใส และสอดคล้องต่อหลักธรรมาภิบาลที่เป็นมาตรฐานสากล ตลอดจนมีการสร้างความโปร่งใสให้แก่กลไกการแต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลเป็นการป้องกันการแทรกแซงจากการเมืองที่ไม่เหมาะสม เพื่อลดโอกาสการนำรัฐวิสาหกิจไปใช้สนองนโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบ โดยการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจด้วยการจัดทำกฎหมายนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ มีผลเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนระยะยาว

รวมทั้งยังจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” (Holding Company) โดยแต่งตั้ง นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน ทำหน้าที่รับผิดชอบรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ เพื่อกำหนดนโยบายที่เป็นเอกภาพให้รัฐวิสาหกิจถือปฏิบัติ การประเมินผลงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นรูปธรรม และสอดคล้องต่อเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ แผนดังกล่าวยังแบ่งการดูแลรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” รับผิดชอบดูแลรัฐวิสาหกิจที่มีทุนเรือนหุ้น ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทจำกัด (มหาชน) โดยภาครัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในรัฐวิสาหกิจกลุ่มดังกล่าว ส่วนรัฐวิสาหกิจ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ( ขสมก.) จะกำกับดูแลโดย สคร. แต่ยังอยู่ภายใต้ คนร. โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ขณะเดียวกัน เมื่อมีการคัดเลือกคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ จะมีระบบกำกับการคัดเลือกอย่างชัดเจนในการคัดเลือกคนมีความรู้ ความสามารถ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีตัดสันใจเลือก ไม่ใช่ถูกส่งมาจากภาคการเมืองโดยตรง ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือก คนร.เห็นชอบแล้วจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาภายในเดือนมกราคมนี้ และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กลางปีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น