นายกสมาคม บลจ.เผยนักลงทุนสถาบันอาจกังขาเรื่องธรรมาภิบาลของบริษัทรายหนึ่ง
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า ตามที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งได้ใช้ข้อมูลวงในไปทำรายการซื้อขายหุ้นที่กำลังมีข่าวนั้น ในฐานะผู้ลงทุนสถาบัน เรามีความเห็นว่าคณะกรรมการของบริษัทแห่งนั้นควรจะต้องพิจารณาและตัดสินใจดำเนินการในสิ่งที่ควรกระทำในฐานะกรรมการที่ดี ไม่ปล่อยปละละเลย
หากไม่มีการดำเนินการอันเป็นที่ยอมรับได้ ผู้ลงทุนสถาบันทั้งหลายที่ลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทแห่งนั้นก็คงยากที่จะไว้วางใจในธรรมาภิบาลของบริษัทได้ และคงต้องดำเนินการตามที่เห็นว่าเหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในอุตสาหกรรมกองทุนรวมนั้นมีการจัดตั้งกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น หรือบริษัทจดทะเบียนที่มีธรรมาภิบาล ประมาณ 5 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาล, กองทุนรวมคนไทยใจดี, กองทุนเปิดบัวหลวงสิริผลบรรษัทภิบาลเพื่อการเลี้ยงชีพ ของ บลจ.บัวหลวง กองทุนเปิดบรรษัทภิบาลหุ้นระยะยาว ของ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) และกองทุนเปิด ทิสโก้ ESG เพื่อสังคม ของ บลจ.ทิสโก้
สำหรับธรรมาภิบาล หรือ (Good Governance) จะมีหลักการใหญ่ 5 ประการดังต่อไปนี้ (อ้างอิงจาก ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน http://astv.mobi/AU9tOJx) คือ
1. ความชอบธรรม (legitimacy) ซึ่งได้แก่ การปกครองบริหาร การเสนอนโยบาย การใช้ทรัพยากรที่มีความชอบธรรม โดยต้องสอดคล้องกับกฎระเบียบและกฎหมาย ผู้ซึ่งทำการดังกล่าวต้องมีอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น ขณะเดียวกัน นอกจากจะถูกต้องตามกฎหมายแล้วจะต้องมีเหตุมีผลอันเป็นที่ยอมรับของประชาชนอีกด้วย นโยบายบางอย่างอาจจะถูกต้องตามกฎหมาย แต่อาจจะขาดความชอบธรรม เป็นต้นว่า ในขณะที่หมู่บ้านหลายแห่งขาดสาธารณูปโภคสาธารณูปการขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทางที่ปราศจากฝุ่น ขาดการบริการสาธารณสุขที่ทันสมัย แต่รัฐบาลกลับเอาเงินจำนวนมหาศาลไปก่อสร้างสิ่งซึ่งอำนวยความสะดวกแก่คนกลุ่มเล็กๆ ในนครหลวง เช่น การสร้างสะพานแขวนที่มีความทันสมัยอย่างมาก แม้จะมีกระบวนการเสนองบประมาณผ่านสภาอย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม แต่เกิดคำถามเรื่องความชอบธรรมขึ้นมาได้ว่า ทำไมถึงให้น้ำหนักกับการสร้างสะพานแขวนมากกว่าการอำนวยความสะดวกและประโยชน์ให้แก่หมู่บ้านที่ยากจนและห่างไกลความเจริญ ดังนั้น ความชอบธรรมจะต้องเป็นเรื่องที่สอดคล้องตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่เนื่องจากความมีเหตุมีผลและความเหมาะสมอีกด้วย
2. การมีส่วนร่วม (participation) การปกครองบริหารที่คำนึงถึงธรรมรัฐาภิบาลจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เสียภาษี หรือผู้ที่ถูกกระทบโดยตรงจากนโยบายมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อการตัดสินใจ เช่น จะต้องให้ประชาชนทราบข้อมูลอย่างถ้วนถี่ถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายที่จะนำไปปฏิบัติ และจะต้องให้ประชาชนทำประชาพิจารณ์หรือแม้แต่การลงประชามติก่อนที่จะตัดสินดำเนินการในเรื่องดังกล่าว การมีส่วนร่วมของประชาชนนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามสิทธิเสรีภาพภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแล้ว ยังเป็นการสร้างความยอมรับและความชอบธรรมในกรณีที่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวอย่างบริสุทธิ์ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการลงประชามติที่ดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม การมีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายจึงเป็นการสร้างความชอบธรรมหรือการมีคุณลักษณะในข้อ 1 ของหลักธรรมรัฐาภิบาล
3. ความโปร่งใส (transparency) ในหลักการธรรมรัฐาภิบาลนั้นจะไม่มีการอ้างถึงความลับของทางราชการที่รัฐมิอาจจะเปิดเผยได้บ่อยนัก ยกเว้นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง ข้อมูลและเหตุผลของนโยบายต่างๆ ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบโดยละเอียด การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีการชี้แจงได้อย่างสมเหตุสมผล โครงการใหญ่ๆ ที่มีการประมูลต้องกระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน มีการประกาศให้ผู้มีสิทธิทราบล่วงหน้า การเปิดซองประมูลก็ดี การตรวจงานที่เสร็จเป็นช่วงๆ ก็ดี การรับงานเมื่องานเสร็จสมบูรณ์ก็ดี ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวจะต้องเป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ตรวจสอบและตอบข้อสงสัยได้อย่างกระจ่าง ไม่มีการอ้างว่าเป็นความลับที่มิอาจจะเปิดเผยได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือกรณีการสอบเข้าโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง ผู้ปกครองทราบดีว่าบุตรของตนสามารถทำข้อสอบได้แต่ผลออกมากลายเป็นสอบไม่ผ่าน จึงขอดูผลสอบ
โดยอ้างสิทธิรัฐธรรมนูญตามมาตรา 58 และ พ.ร.บ.ข่าวสารข้อมูล ผลสุดท้ายกฤษฎีกาก็วินิจฉัยให้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวจนทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร นี่คือตัวอย่างของการที่ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลหรือมีความโปร่งใส การกระทำอันใดก็ตามที่มีการบิดเบือนกฎระเบียบ ปกปิดข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรทราบ เช่นมีความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างโดยการกระทำอย่างลับๆ ล่อๆ ฯลฯ ย่อมจะขัดต่อหลักความโปร่งใสทั้งสิ้น การปกครองบริหารที่เน้นหลักธรรมรัฐาภิบาลจะต้องยึดหลักความโปร่งใสในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้งบประมาณแผ่นดิน
4. การมีความรับผิดชอบ (accountability) ซึ่งหมายถึงการสามารถจะชี้แจงกับประชาชนได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะของการแจกแจงบัญชีเป็นเรื่องๆ เช่น ถ้ามีการสัญญาในระหว่างการรณรงค์หาเสียงว่าจะทำโครงการอะไรบ้าง ก็เสมือนหนึ่งการบอกบัญชีเรื่องที่จะเสนอให้แก่ประชาชน งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ก็ต้องสามารถชี้แจงได้อย่างกระจ่างถึงค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล กล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่คือหลักธรรมรัฐาภิบาลที่ผู้ใช้อำนาจหรือข้าราชการแผ่นดินในกระทรวง ทบวง กรม หรือระดับท้องถิ่น ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน อธิบายความได้โดยละเอียดถึงสิ่งที่ต้องกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับข้อสัญญาต่างๆ หรือในการใช้งบประมาณ
5. ประสิทธิภาพประสิทธิผล (efficiency and effectiveness) ประสิทธิภาพได้แก่การทำโครงการให้สำเร็จด้วยการใช้งบประมาณ เวลา และทรัพยากร ทั้งในรูปของเงินตรา วัสดุ และทรัพยากรมนุษย์ให้น้อยที่สุด แต่ให้ได้ผลออกมาดีที่สุด ตัวอย่างเช่น ถ้าบริษัทสองบริษัทแข่งขันกันในเรื่องดังกล่าว บริษัท ก. สามารถสร้างอาคารได้เสร็จได้ในช่วงเวลาที่สั้นกว่า ใช้งบประมาณน้อยกว่า ใช้ทรัพยากรน้อยกว่า โดยคุณภาพออกมาดีเท่ากับอีกบริษัทหนึ่งคือบริษัท ข ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า ใช้งบประมาณมากกว่า ใช้ทรัพยากรมากกว่า บริษัท ก ย่อมมีประสิทธิภาพดีกว่าบริษัท ข ประสิทธิภาพคือการมีผลได้ (output) ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักธรรมรัฐาภิบาลจะต้องคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพอาจจะไม่นำไปสู่ประสิทธิผล ประสิทธิภาพได้แก่ผลได้ (output) ประสิทธิผลได้แก่ผลลัพธ์ (outcome) เป็นต้นว่า การสร้างสะพานลอยให้รถข้ามสี่แยกอาจจะมีการสร้างสะพานโดยมีผลได้ (output) อย่างเหมาะสมกับงบประมาณและใช้เวลาอันสั้น แต่ผลลัพธ์ (outcome) อาจจะล้มเหลว ผลลัพธ์ก็คือต้องการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด แต่ถ้าไม่มีการศึกษาอย่างถี่ถ้วนหลังจากสร้างสะพานเสร็จแล้วอาจจะมีรถจำนวนน้อยที่ใช้สะพานลอยดังกล่าว เพราะรถส่วนใหญ่จะวิ่งออกไปทางซ้ายเพื่อเลี้ยวขวาไปยังอีกทางหนึ่ง ทำให้เกิดการติดขัดเนื่องจากรถมาออกันอยู่ข้างล่างเพื่อรอเลี้ยวขวา
ถ้ามีการศึกษาล่วงหน้าก็จะมีการสร้างสะพานลอยเพื่อเลี้ยวขวา มากกว่าการสร้างสะพานลอยเพื่อวิ่งตรงข้ามสี่แยก ตัวอย่างที่กล่าวมานี้ก็คืออาจจะได้ผลได้ (output) เช่นได้สร้างสะพานหนึ่งสะพานอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณและเวลาการก่อสร้างอย่างสมเหตุสมผล แต่ผลลัพธ์ (outcome) คือการไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดได้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือสะพานลอยที่บางกะปิที่สร้างสะพานลอยผ่านไปนิด้า แต่รถกลับมาอออยู่ที่ใต้สะพานเพื่อเลี้ยวไปยังสี่แยกลำสาลี ซึ่งเป็นตัวอย่างของการมีประสิทธิภาพแต่ขาดประสิทธิผล ธรรมรัฐาภิบาลต้องมีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้ทรัพยากรให้สมค่าที่สุด