xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ผุดหน้าที่ชาวไทย ต่อต้านทุจริต ใครละเลยมีความผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีมติให้บัญญัติหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต่อต้านการทุจริต ใครเพิกเฉยถือว่ามีความผิดด้วย คงใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่เหมือนฉบับปี 40 และ 50 และหน้าที่ของรัฐให้ทำตามหน้าที่ 11 ประเด็น ดูความสามารถทางการเงินควบคู่กัน

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่โรงแรมเลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ ชะอำ จ.เพชรบุรี นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) แถลงผลการพิจารณาในหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทย โดยมีประเด็นใหม่ที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีต คือ กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ต่อต้านการทุจริต นอกจากเหนือจากหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง รับราชการทหาร ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และการเสียภาษีอากร เมื่อ กรธ.กำหนดหลักการต่างๆ ข้างต้นให้เป็นหน้าที่แล้ว แปลว่าจะต้องมีมาตรการสำหรับผู้ที่ละเลยไม่ทำตามหน้าที่ตามมา เช่นเดียวกับความผิดทางกฎหมายอาญา ในกรณีที่พบเห็นคนกำลังจะจมน้ำตายแล้วไม่พยายามช่วยเหลือก็จะมีความผิด โดยจะเป็นความผิดในฐานลหุโทษ

“เราถือว่าเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ร้ายแรงในสังคมไทยที่คนไทยทุกคนต้องมีหน้าที่ร่วมกันต่อต้าน ดังนั้น ต่อไปนี้ผู้ที่พบเห็นและรู้ว่ากำลังจะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นแล้วเพิกเฉยก็จะถือว่ามีความผิดด้วย โดยจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขความร้ายแรง และบทลงโทษไว้ในกฎหมายที่ตามมาอีกครั้ง แต่เบื้องต้นน่าจะเป็นความผิดในฐานลหุโทษเช่นเดียวกัน” นายอุดมกล่าว

นอกจากนี้ นายอุดมยังระบุว่า กรธ.ได้กำหนดให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 แต่บทลงโทษจะไปพิจารณาอีกครั้งเมื่อมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

โฆษก กรธ.ยังแถลงถึงความคืบหน้าในการพิจารณาหมวดหน้าที่ของรัฐ ที่กำหนดว่ารัฐต้องมีความผูกพันให้ต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และตามกำลังความสามารถทางการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งในร่างแรกนี้มีการบัญญัติไว้ 11 ประเด็น เช่น รัฐต้องพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์, รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด, รัฐต้องจัดการศึกษามุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตนเอง, รัฐต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐที่ไม่ใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง, รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นประเด็นสำหรับป้องกันนโยบายประชานิยม เป็นต้น

“ประเด็นการปฏิรูปหลายเรื่องถูกบัญญัติไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐซึ่งมีผลบังคับ โดยหากรัฐไม่ดำเนินการ ประชาชน หรือฝ่ายค้านมีสิทธิ์ฟ้องร้องหรือดำเนินการทางการเมืองได้ แต่ทั้งนี้ อาจมีกฎหมายออกมากำหนดในบางเรื่องที่ต้องดูความพร้อมของรัฐว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้เมื่อไหร่ หรือภายในระยะเวลานานเท่าไหร่ ที่ต้องเริ่มดำเนินการ เป็นต้น โดย กรธ.มองว่าวิธีนี้จะให้ผลในการทำให้มีการปฏิบัติได้จริง มากกว่าการเขียนไว้เป็นหมวดปฏิรูปเฉยๆ และประชาชนมีโอกาสเข้ามาร่วมตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง (คปป.) อย่างที่ร่างไว้ในชุดกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน


กำลังโหลดความคิดเห็น