xs
xsm
sm
md
lg

กาชาดให้ “ยาเพร็พ” ป้องกันเอดส์ฟรีกลุ่ม “ชายรักชาย-สาวเทียม” หลังพบติดเชื้อพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สภากาชาดไทยให้ “ยาเพร็พ” ป้องกันเอดส์ฟรี “กลุ่มชายมีเซ็กซ์กับชาย - สาวประเภทสอง” 1,000 คน เป็นเวลา 3 ปี หลังพบอัตราการติดเชื้อรายใหม่พุ่ง 7% ใน 1 ปี ย้ำไม่ใช่ยาป้องกันแบบฉุกเฉิน ต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ชี้ มีผลต่อไตและกระดูกเล็กน้อย สธ. เร่งศึกษาประสิทธิผล - ความคุ้มค่าก่อนชง สปสช. บรรจุสิทธิประโยชน์สำหรับคนไทยทั้งหมด

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย มีการแถลงข่าวโครงการลดการติดเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง โดยการให้ยาต้านไวรัสเอดส์ก่อนการสัมผัสเชื้อ (PrEP) เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชันษาครบ 5 รอบ หรือ “โครงการ เพร็พ พระองค์โสมฯ” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวว่า การกินยาต้านไวรัสเอชไอวีเพื่อรักษานั้นต้องกินยาต้านฯ 3 ตัว แต่หากจะกินเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือ เพร็พ (Pre-exposure Prophylaxis : PrEP) จะใช้ยาต้านไวรัส 2 ตัว คือ ยาทีโนโฟเวียร์ (TDF) และยาเอมทริซิตาบีน (FTC) ร่วมกันในเม็ดเดียว ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหากกินสม่ำเสมอทุกวันสามารถป้องกันได้สูงถึง 92% เพราะยาจะไปสะสมอยู่ในเม็ดเลือดขาว เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย และอวัยวะที่เป็นช่องทางเข้าของเชื้อเอชไอวี เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก ปากทวารหนัก เยื่อบุอวัยวะสืบพันธุ์ชาย เมื่อมีเชื้อเอชไอวีเข้าไปในร่างกายก็จะถูกยาที่สะสมอยู่ก่อนยับยั้งไม่ให้แบ่งตัว จึงป้องกันการติดเชื้อได้

ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2558 องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินยาเพร็พในกลุ่มประชากรที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่เกินร้อยละ 3 ต่อปีขึ้นไป แต่จากการที่สภากาชาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินโครงการตรวจเร็วรักษาเร็วใน กทม. มหาสารคาม อุบลราชธานี และ ลำปาง เพื่อให้ยาต้านฯ ทันทีกับคนที่ตรวจแล้วพบการติดเชื้อ และหากไม่พบจะให้มีการตรวจซ้ำทุก 6 เดือนนั้น พบว่า กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสอง ที่ตรวจครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อนั้น เมื่อติดตามตรวจซ้ำเป็นเวลา 1 ปี มีการติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7 จึงนำร่องยาเพร็พฟรีแก่ดังกล่าวจำนวน 600 คน ที่มารับบริการโครงการตรวจเร็วฯ ใน 3 โรงพยาบาลและ 4 ศูนย์สุขภาพชุมชนพบว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

“ยาเพร็พนี้ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สามารถผลิตได้ ราคาจำหน่ายที่คลินิกนิรนามราคาเดือนละ 640 บาท แต่ยาเพร็พยังไม่ได้บรรจุลงไปอยู่ในสิทธิประโยชน์ของกองทุนรักษาพยาบาลใด ๆ โดยระหว่างการรอบรรจุนั้น สภากาชาดไทยจึงขยายบริการ โดยจัดทำโครงการเพร็พพระองค์โสมฯ ขึ้น เพื่อให้บริการยาเพร็พฟรีแก่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และสาวประเภทสองปีละ 1,000 ราย ในศูนย์สุขภาพชุมชนของสมาคมฟ้าสีรุ่งที่กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ มูลนิธิสวิง (SWING) ที่กรุงเทพฯ และพัทยา มูลนิธิ SISTERS ที่พัทยา ศูนย์ CAREMAT และ M-PLUS ที่เชียงใหม่ เป็นเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพระวรราชาทินัดดามาตุ คาดว่าใช้เงินค่ายาปีละ 7,680,000 บาท” ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าว

พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าแผนกป้องกัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ กล่าวว่า ก่อนจะให้ยาเพร็พจะต้องตรวจเลือดให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้ติดเชื้อ และต้องตรวจหาการทำงานของไต และมีพฤติกรรมเสี่ยงมากในช่วงนั้น ก็สามารถรับยาไปกินได้ แต่การกินยาไม่จำเป็นต้องกินตลอดชีวิต กินเฉพาะช่วงชีวิตที่คิดว่าจะมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งจะกินทุกวัน วันละ 1 เม็ด แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ยากินเพื่อป้องกันแบบฉุกเฉิน เพราะเป็นการวางแผนป้องกันว่าช่วงไหนที่น่าจะมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงก็ให้เริ่มกิน โดยผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักต้องกินติดต่อ 7 วัน ยาจึงมาสะสมอยู่ที่ทวารหนัก ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าทางช่องคลอด 10 - 30 เท่า ส่วนยาจะมาสะสมที่ช่องคลอดต้องกิน 3 สัปดาห์ โดยต้องกินต่อเนื่องจนกว่าคิดว่าไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว และต้องกลับมาตรวจหาการติดเชื้อทุก 3 เดือน เพราะยาป้องกันไม่ได้ 100% ดังนั้น คนที่กินเพร็พยังต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย

“ยาเพร็พมีผลข้างเคียงต่อไตและกระดูกเล็กน้อย โดยจากการศึกษาพบว่าเมื่อใช้ยาเพร็พเพื่อป้องกันเป็นเวลา 1-2 ปี มีคนที่ไตทำงานผิดปกติไม่ถึง 1% ดังนั้น โครงการนี้จะติดตามค่าการทำงานของไตด้วย หากพบว่ามีปัญหาก็จะหยุดยา ไตก็จะกลับมาทำงานตามปกติ ส่วนกระดูกพบว่าเมื่อกินต่อเนื่อง 6 เดือน - 1 ปี ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง 1 - 1.5% แต่ไม่มีข้อมูลว่าทำให้กระดูกหักมากขึ้น ซึ่งถือว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นน้อยกว่าการที่ต้องติดเชื้อแล้วต้องกินยาไปตลอดชีวิต ถือว่ามีความคุ้มค่ามาก” พญ.นิตยา กล่าว

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) สธ. กล่าวว่า เพร็พได้ผลดีในการป้องกันจึงได้มีการจัดอยู่ในแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่การจะนำมาขยายผลเพื่อนำมาใช้กับประชาชนทั้งประเทศนั้นยังต้องศึกษาความคุ้มค่าและประสิทธิผลก่อน ซึ่งขณะนี้กรมฯ กำลังศึกษาในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต ชลบุรี อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และนนทบุรี เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการพิจารณาบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ คาดว่า ไม่เกิน 1 ปีครึ่ง จะทราบผล ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมฯ มีผู้ที่ควรได้รับยาเพร็พจำนวน 1.5 แสนคน ทั้งกลุ่มชายรักชาย สาวประเภทสอง ผู้ใช้ยาเสพติดประเภทฉีด และคู่สมรสที่มีผลเลือดต่าง

คุณฐิติญานันท์ หนักป้อ ผอ.มูลนิธิซิสเตอร์ กล่าวว่า แม้จะมีการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี แต่บางครั้งเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด เช่น ถุงยางอนามัยแตกระหว่างมีเพศสัมพันธ์ การให้ยาเพร็พร่วมด้วยจึงสร้างความมั่นใจเพิ่มขึ้นในการป้องกันการติดเชื้อ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรค

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น