xs
xsm
sm
md
lg

กิน “ซูชิ” ในไทยเสี่ยงรับเชื้อกว่าญี่ปุ่น เหตุเป็นเมืองร้อน ระบบขนส่งยังมีปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. ลั่นเร่งตรวจเข้มอาหารญี่ปุ่น หลังพบเชื้อวิบริโอในซูชิ อธิบดีกรมวิทย์ ชี้ กินซูชิในไทยเสี่ยงรับพยาธิ เหตุอากาศร้อนเชื้อโรคแพร่เร็ว วางขายในกระบะเสี่ยงสุด เผย ปลาดิบน้ำเข้าไม่พบพยาธิ แต่มักพบในกระบวนการขนส่ง

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ (Vibrio cholerae) ในซูชิ โดยคนเป็นพาหะนำเชื้อ ว่า ที่ผ่านมา อย. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบและเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารมาตลอด ทั้ง กทม. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อย่างกรณีดังกล่าวที่ตรวจพบนั้นก็เป็นความมือกันของ อย. และ กทม. ซึ่งถือว่าเข้าข่ายอาหารไม่สะอาดมีโทษตามมาตรา 58 พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ต่อจากนี้ อย. จะต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นขึ้น และถี่ขึ้นกว่าเดิม

ด้าน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่สนับสนุนให้คนไทยรับประทานอาหารดิบ เพราะกังวลเรื่องของพยาธิและเชื้อโรค การรับประทานอาหารสุก จึงช่วยป้องกันการได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย แต่มีข้อยกเว้น อย่างการรับประทานอาหารญี่ปุ่น ประชาชนต้องเข้าใจก่อน ว่า ประเทศญี่ปุ่นมีพยาธิน้อยกว่าไทยเยอะมาก และอีกอย่างเวลาที่คนญี่ปุ่นรับประทานปลาดิบจะนำปลามาจากท้องทะเลน้ำลึก ซึ่งไม่มีพยาธิ ประกอบกับประเทศญี่ปุ่นเป็นเมืองหนาว กระบวนการประกอบอาหารใช้เวลาไม่นานเลยสามารถควบคุมเชื้อโรคที่จะเข้ามาในภายหลังได้ แต่ในประเทศไทยอากาศร้อน หรือเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดเชื้อโรคเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น คนไทยต้องตระหนักว่าการรับประทานอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีความเสี่ยงอยู่ระดับหนึ่ง หากจะรับประทานต้องเลือกร้านที่มีมาตรฐาน สะอาดทั้งในส่วนของสถานที่ คนปรุงอาหารและอุปกรณ์ทำครัว มีการตรวจร่างกายคนทำอาหารอย่างสม่ำเสมอ

“ที่ผ่านมา กรมวิทย์ตรวจปลาดิบนำเข้าจากญี่ปุ่นไม่พบพยาธิ ไม่พบเชื้อโรค แต่เมื่อตรวจในกระบวนการขนส่งจัดเก็บแล้วพบว่ามีเชื้อวิบริโออยู่บ่อย ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะระบบควบคุมอุณภูมิไม่ดี ทำให้รับเอาเชื้อโรคเข้ามาภายหลัง บางร้านกว่าจะถึงมือผู้บริโภคใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมง โดยเฉพาะร้านที่วางขายในกระบะต่าง ๆ นั้นมีความเสี่ยงเยอะ หากจะรับประทานขอให้ดูให้ดี ๆ เลือกร้านที่สะอาด ได้มาตรฐาน อย่ารับประทานบ่อย เพราะต้องระลึกไว้เสมอว่าการรับประทานอาหารดิบนั้น มีความเสี่ยงทั้งสิ้น” นพ.อภิชัย กล่าว และว่า ตามกฎหมายแล้วในอาหารห้ามมีเชื้อซาโมไนลา วิบริโอ โดยเด็ดขาด เพราะทำให้เกิดโรคท้องร่วง บิด และ อหิวาตกโรค เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น