xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบ “โรคเมลิออยด์” ทั่วโลกตายสูงกว่าไข้เลือดออก 7 เท่า วินิจฉัยโรคยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดงานวิจัย ม.มหิดล ร่วม ออกซ์ฟอร์ด สร้างแบบจำลองการเกิดโรค “เมลิออยด์” ทั่วโลกเป็นครั้งแรก พบอัตราตายปีละ 8.9 หมื่นราย สูงกว่าไข้เลือดออก 7 เท่า เผยวินิจฉัยโรคยาก เหตุต้องเพาะเชื้อ หวังใช้งานวิจัยประเมินพัฒนาห้องแล็บ ช่วยลดอัตราตาย

ผศ.นพ.ดิเรก ลิ้มมธุรสกุล นักวิจัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมกับทีมนักวิจัยของ ม.มหิดล และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทำการศึกษาวิจัยอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคเมลิออยด์ทั่วโลก โดยการรวบรวมบันทึกการติดเชื้อเมลิออยด์ในคน สัตว์ และการพบเชื้อเมลิออยด์ในสิ่งแวดล้อม ระหว่างปี ค.ศ. 1910 - 2014 และใช้ฐานข้อมูลคุณสมบัติของดิน อุณหภูมิ และปริมาณฝนตกทั่วโลก เพื่อทำการสร้างแบบจำลองประเมินว่าเชื้อเมลิออยด์จะพบได้ที่ใดบ้างในโลก ซึ่งจากการศึกษาทำให้ทราบว่า ทั่วโลกมีประชากรเสียชีวิตจากโรคเมลิออยด์ถึง 89,000 รายต่อปี เทียบเท่าโรคหัด ประมาณ 96,000 ราย และสูงกว่าโรคฉี่หนูที่มีการเสียชีวิต 50,000 ราย และโรคไข้เลือดออกที่มีเพียง 12,500 ราย นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ใน 45 ประเทศที่เมลิออยด์เป็นโรคประจำถิ่นและมีการเสียชีวิตสูงนั้น มีการรายงานการเกิดโรคที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และอีก 34 ประเทศที่ประเมินว่ามีผู้ติดเชื้อ ยังไม่เคยมีการรายงาน

“โรคเมลิออยด์ เกิดจากเชื้อ Burkholderia pseudomallei เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ที่อาศัยอยู่ในดินและน้ำ สามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงในคนและสัตว์ เชื้อนั้นสามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ทางการกิน หรือทางการหายใจ ส่วนการวินิจฉัยทางการแพทย์นั้นเป็นไปค่อนข้างยากเนื่องจาก อาการที่แสดงของผู้ป่วยจะมีความหลากหลาย ไม่จำเพาะเจาะจง การตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจน้ำเหลืองหรือชุดตรวจไม่มีความแม่นยำ การวินิจฉัยจำเป็นต้องใช้การเพาะเชื้อแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการจากสิ่งส่งตรวจต่าง ๆ เช่น เลือด เสมหะ และ ปัสสาวะ และต้องการความชำนาญของเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการในการระบุเชื้อให้ถูกต้อง อีกทั้งเชื้อเมลิออยด์ยังทนทานต่อยาต้านจุลชีพหลากหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งยาต้านจุลชีพที่ใช้ในการรักษาโรคเมลิออยด์จำเป็นต้องใช้ยาที่จำเพาะต่อโรคเท่านั้น” ผศ.นพ.ดิเรก กล่าว

ผศ.นพ.ดิเรก กล่าวว่า การวิจัยนี้คาดหวังว่าจะส่งผลให้ภาครัฐหรือหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขทั่วโลกได้ประเมิน และพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา และให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการในประเทศของตนเอง เพื่อให้ผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง จากนั้นหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขควรพิจารณาถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนและให้ประชาชนป้องกันการติดเชื้อเมลิออยด์จากสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้จะสามารถทำให้ลดอัตราการตายจากโรคเมลิออยด์ลงได้ ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ถูกเผยแพร่ทางวารสารออนไลน์ “Nature Microbiology”

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น