คนไทยตื่นตัวไข้เลือดออกมากขึ้น คาดตัวเลขป่วยเพิ่มขึ้นอีก นักกีฏะเผยไข่ยุงลายอยู่ในที่แห้งได้นานถึง 5 ปี หากถูกน้ำขังกลายเป็นลูกน้ำได้ใน 20 วินาที ย้ำเทน้ำทิ้งไม่ช่วย ต้องขัดไข่ยุงลายด้วย ระวังสำรองน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง เสี่ยงแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย
วันนี้ (25 พ.ย.) นพ.ธีระ กุศลสุข รอง ผอ.โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีความตื่นตัวเรื่องไข้เลือดออกมากขึ้น โดยพบว่ามีผู้ป่วยเข้ามาตรวจและรักษาโรคที่โรงพยาบาลมากขึ้น ทำให้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น โดยคาดว่า ก่อนสิ้นปี 2558 อาจมียอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกมาก
ด้าน รศ.ชำนาญ อภิวัฒนศร อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวว่า ยุงลายบ้าน และยุงลายสวนมีเชื้อเดงกีที่ก่อโรคไข้เลือดออกได้ โดยเฉลี่ยยุงลาย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 100 ฟอง ในบริเวณเชื่อมต่อของน้ำกับพื้นที่แห้ง เมื่อน้ำลดลงไข่ยุงลายจะยังเกาะอยู่อย่างนั้น และรอเวลาน้ำท่วมขังอีกครั้ง ซึ่งเมื่อมีน้ำไข่ยุงลายจะใช้เวลาเพียง 10 - 20 วินาที ในการออกมาเป็นลูกน้ำ และใช้เวลาอยู่ในน้ำเฉลี่ย 5 - 7 วัน ก็จะเป็นยุงลาย ซึ่งจากการทดลองทางห้องปฏิบัติการพบว่า ไข่ลูกน้ำยุงลายสามารถอยู่ในพื้นที่แห้งได้นานถึง 5 ปี แต่ถ้าเป็นพื้นที่แห้งตามธรรมชาติไม่ทราบว่าอยู่ได้นานเท่าไร ดังนั้น การคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังอาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก แต่ต้องขัดภาชนะเพื่อขจัดไข่ยุงลายด้วย แต่ไข่ยุงลายก็จะพยายามป้องกันตัวเองและมีความสามารถในการเกาะผนังให้แน่นขึ้นไปด้วย
“ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่คน จะต้องมีการจัดการสิ่งแวดล้อมในบ้านของตัวเองไม่ให้มีแหล่งน้ำขังตั้งแต่แรก ที่สำคัญคือ มีการศึกษาพบว่าการกำจัดลูกน้ำยุงลายให้ได้ผล ต้องได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนถึง 80% ถ้าน้อยกว่านี้ไม่มีประโยชน์ ส่วนที่ต้องเฝ้าระวังคือการสำรองน้ำไว้ใช้ของคนไทย ยิ่งสถานการณ์น้ำในไทยตอนนี้ค่อนข้างน้อย คาดว่า จะมีการสำรองน้ำไว้ใช้กันจำนวนมาก อาจทำให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลายได้” นายชำนาญ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่