xs
xsm
sm
md
lg

ม.มหิดลปลุกพลังชาวนาพิจิตรลดต้นทุนการผลิตเลิกใช้สารเคมี เตรียมเชื่อมเครือข่าย 4 จังหวัดรับมือ AEC

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิจิตร - “มหาวิทยาลัยมหิดล” ปลุกพลังชาวนาพิจิตรลดต้นทุนการผลิตเลิกใช้สารเคมี เจาะเลือดชาวนาพบสารเคมีในเลือดลดลงถึง 40% บางรายไม่พบเลย เตรียมเชื่อมเครือข่าย 4 จังหวัดรับมือ AEC

วันนี้ (10 ธ.ค.) น.ส.พินณารักษ์ พันธุมาศ นักวิชาการเกษตรมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ เปิดเผยภายหลังจัดเวทีเสวนาแกนนำเกษตรกรที่ปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมีของอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ว่าหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ระบบการค้าเสรี เศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรเพื่อให้สามารถสู้กับคู่แข่งได้

ดังนั้น จากการระดมสมองของแกนนำชาวนาพบว่า วิธีการเอาชนะคู่แข่ง คือ ชาวนาไทยต้องลดต้นทุนการผลิต เลิกใช้สารเคมี ปลูกข้าวพันธุ์ดีกินอร่อย และต้องสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นแผนโรดแมปในระยะสั้น 1 ปี ในระยะกลาง 3 ปี และในระยะยาว 5 ปี ว่าต้องการอะไรและจะทำอะไรกันบ้าง

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก (สสว.) ในการขับเคลื่อน ขณะนี้ได้ลงพื้นที่สร้างเครือข่ายชาวนาในกลุ่ม 4 จังหวัด คือ พิจิตร นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ให้รวมตัวกันเพื่อจะได้เกิดอำนาจต่อรองทางด้านการตลาดรวมถึงจะได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองรวมถึงพึ่งพาเครือข่าย ขณะนี้พบว่าชาวนาพิจิตรกลุ่มนำกระแสที่มีประมาณ 300 คน เริ่มก้าวเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

ในส่วนของ น.ส.มุทิตา ปัญติ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.วชิรบารมี จ.พิจิตร หนึ่งในแกนนำผู้ขับเคลื่อนเรื่องการสร้างสุขภาพของชาวนาเปิดเผยว่าในอดีตที่ผ่านมาชาวนาแถบอำเภอวชิรบารมีเจ็บไข้ได้ป่วย ทาง รพ.วชิรบารมีจึงคิดวิธีรักษาโรคจากต้นทางจึงได้รณรงค์ให้ชาวนาต้องเลิกใช้สารเคมี ครั้งล่าสุดเจาะเลือดชาวนา 136 คน พบว่าสุขภาพดีขึ้น มีสารพิษในร่างกายลดลงถึง 40% และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่พบสารพิษในร่างกายเลย

เช่นเดียวกับนายชยพล เกิดแพ นายกสมาคมชาวนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวนาที่เป็นสมาชิกของสมาคมว่าขณะนี้ ชาวนากลุ่มแกนนำกระแสได้ลงมือปฏิบัติจริงในการทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีเลย แต่ใช้วิธีทำน้ำหมักและจุลินทรีย์จากปลวกที่ได้ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านหันมาทำใช้เอง อีกทั้งได้เรียนรู้เรื่องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวและการดูแลแปลงนาจากมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี จึงทำให้ขณะนี้สามารถทำนาแบบไม่ใช้สารเคมีและปลูกข้าวคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง จึงทำให้ต้นทุนการทำนาอยู่ที่ 1,500-1,700 บาทเท่านั้น

ในขณะที่ช่วงนี้ไม่มีการรับจำนำข้าว โรงสีประกาศรับซื้อข้าวเปลือกในราคาตันละ 6,000-7,000 บาท แต่ชาวนาที่เดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงก็ยังสามารถทำนาแบบลดต้นทุนและมีกำไรแถมยังทำให้สุขภาพของชาวนาและผู้บริโภคแข็งแรงตามไปด้วย สมดั่งคำขวัญที่ว่า “พิจิตรแผ่นดินทอง เรืองรองปลูกข้าวอินทรีย์ ข้าวกินดีรักษาโรคภัย ก้าวไกลสู่ AEC”


กำลังโหลดความคิดเห็น