xs
xsm
sm
md
lg

“อดีตครูระโนดวิทยา” ผันตัวเปิดศูนย์ภูมิปัญญา “ชาวบก” แนะทำเกษตรพอเพียงอย่างถูกวิธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ครูฑูรย์” อดีตครูโรงเรียนระโนดวิทยา ผันตัวเองเก็บเกี่ยวความรู้เปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญา “ชาวบก” หรือชาวคาบสมุทรสทิงพระ แนะการทำเกษตรแบบพอเพียงอย่างถูกวิธี

วันนี้ (5 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพฑูรย์ ศิริรักษ์ อายุ 61 ปี หรือ ครูฑูรย์ อดีตครูโรงเรียนระโนดวิทยา อ.ระโนด จ.สงขลา ซึ่งได้ลาออกจากราชการ และผันตัวเองมาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวบ้านในคาบสมุทรสทิงพระมานานมากกว่า 10 ปี ได้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาบก หรือชาวคาบสมุทรสทิงพระขึ้น เพื่อให้คนรุ่นหลังและผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในคาบสมุทรสทิงพระแบบดั้งเดิม รวมทั้งการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่

โดย ครูฑูรย์ได้ใช้ที่ดินส่วนตัว ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนสายสทิงพระ-สงขลา เลขที่ 7/4 ม.7 ต.จะทิ้งพระ อ.สทิงพระ จ.สงขลา จำนวน 5 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับการตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบก โดยเนื้อที่ 3 ไร่ถูกใช้เป็นแปลงสาธิตการทำนาข้าว ส่วนอีก 2 ไร่ได้ทำเป็นที่อยู่อาศัย ตัวอาคารศูนย์การเรียนรู้ และพื้นที่สำหรับเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

 
สำหรับจุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ อยู่ที่การแนะนำให้ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ได้เข้าใจถึงวิถีของการทำเกษตรแบบพอเพียง ที่จะต้องปรับใช้ให้เข้ากันกับสภาพดินและน้ำของในแต่พื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยจะมีการสอนการปรับปรุงสภาพดินให้สามารถทำการเพาะปลูกพืชได้ โดยใช้น้ำหมักจุลินทรีย์จากเศษอาหารภายในครัวเรือน รวมถึงแนะนำการปลูกพืชและผักอย่างถูกวิธี เช่น ตะไคร้ จากปกติที่นิยมปลูกกันหลุมละ 3-5 ต้น และให้ผลผลิตได้เพียงกอละ 100 ต้น ให้เปลี่ยนมาปลูกหลุมละ 1 ต้น ซึ่งจะให้ผลผลิตได้มากถึงกอละ 120-150 ต้น โดยใช้พื้นที่เท่าเดิม และประหยัดต้นพันธุ์ได้จำนวนมาก

นอกจากนี้ มีการทำคอกเลี้ยงสัตว์ ทั้งหมู เป็ด ไก่ และห่าน โดยปราศจากกลิ่นรบกวน โดยใช้ผลพลอยได้จากการหมักจุลินทรีย์จากเศษอาหาร และมูลสัตว์ที่ได้ก็สามารถนำไปใส่ปุ๋ยต้นไม้และพืชผักนานาชนิดภายในสวน ซึ่งมีอยู่นับร้อยชนิด ขณะที่สัตว์ที่เลี้ยงเอาไว้ก็จะมีทั้งนำมาเป็นอาหาร จำหน่าย และแบ่งปันพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้กับชาวบ้านคนอื่นๆด้วย

 
ครูฑูรย์ บอกว่า การทำเกษตรแบบพอเพียงไม่ใช่การเลียนแบบจากที่อื่น แล้วมาทำเหมือนๆกัน แต่เป็นการไปศึกษาเรียนรู้ แล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และวิถีชีวิต ถึงจะได้ผลดีที่สุด โดยที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ในแต่ละปีจะมีผู้คนจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เข้ามาเยี่ยมชมมากกว่าปีละ 4,000 คน

ซึ่งนอกจากจะมีการแนะนำ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบพอเพียงแล้ว ยังจะมีการบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ของคนบก หรือคนในคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งมีภูมิปัญญาชาวบ้านหลายอย่างที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์เอาไว้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 087 391 2325




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น