ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เทศบาลนครสงขลา ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.สงขลา บูรณะปรับปรุง และอนุรักษ์สถานีรถไฟสงขลา “100 ปีสถานีรถไฟสงขลา” เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ของนครสงขลา ที่จะบอกเล่าถึงตำนานเมืองเก่าสงขลา
วันนี้ (23 ก.ย.) เทศบาลนครสงขลา ร่วมกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสงขลา จัดทำโครงการอนุรักษ์ และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สถานีรถไฟสงขลา “100 ปีสถานีรถไฟสงขลา” โดยใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูสถานีรถไฟสงขลา ซึ่งในอดีตเคยเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟที่ให้บริการประชาชนในเส้นทางหาดใหญ่-สงขลา แต่ได้หยุดเดินรถ และเลิกใช้งานตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค.2521 แต่ตัวอาคารยังมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม มีประวัติศาสตร์คู่กับเมืองสงขลามายาวนาน
โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการบูรณะ ซ่อมแซม ปรับปรุงไปแล้ว โดยทางสํานักศิลปากรที่ 13 สงขลา ได้ตรวจสอบสภาพอาคารเดิมที่มีอายุประมาณ 100 ปี ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากร ตั้งแต่ปี 2547 การซ่อมแซมสภาพอาคารนั้นจําเป็นต้องใช้รูปแบบตามลักษณะอาคารอนุรักษ์โดยยึดรูปแบบอาคารเดิมในอดีต
ซึ่งการบูรณะสถานีรถไฟเป็นศูนย์การเรียนรู้ มี 2 ส่วน คือ 1.ฟื้นฟูปรับปรุงตัวอาคารสถานีรถไฟสงขลา 2.ปรับภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบอาคารสถานี โดยการบูรณะสถานีรถไฟสงขลาจะแล้วเสร็จประมาณปลายปีนี้ ภายในอาคารจะมีส่วนการจัดแสดงกิจกรรมอนุรักษ์ พร้อมทั้งมีสื่อมัลติมีเดียเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และศูนย์การเรียนรู้แห่งใหม่ของนครสงขลา
ในขณะเดียวกัน ร้านน้ำชาลุงเวียง รอดผล อายุ 82 ปี ซึ่งเป็นอดีตพนักงานรถไฟสถานีรถไฟสงขลา และเปิดร้านขายน้ำชาอยู่บริเวณสถานีรถไฟสงขลา ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าสถานีรถไฟสงขลาจะหยุดการเดินรถ แต่ลุงเวียง ก็ยังขายน้ำชาอยู่จนถึงปัจจุบัน และเมื่อการบูรณะแล้วเสร็จ ก็จะย้ายกลับเข้าไปขายที่เดิมในสถานีรถไฟสงขลาที่เคยขายมา 58 ปี
นายสมชาย จันทร์ประทิน รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า โครงการอนุรักษ์และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน สถานีรถไฟสงขลา เป็นการฟื้นฟูสถานีรถไฟสงขลา ซึ่งเป็นอาคารมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม มีประวัติศาสตร์คู่กับเมืองสงขลา เพื่อให้เป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองเก่าสงขลา แก่นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยว สามารถเล่าเรื่องเมืองเก่าถึงที่มาของสถานีรถไฟสงขลาในอดีตได้