ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวบ้านใน ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ร่วมกันสืบสานวิถีชีวิตแบบ “โหนด นา ไผ่ คน” โดยเฉพาะบ้านใบตาลอายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นภูมิปัญหาของชาวบ้านตั้งแต่บรรพบุรุษจนกลายเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของนักเรียน นักศึกษา และผู้คนทั่วไป
วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต.รำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีชีวิต “โหนด นา ไผ่ คน” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ และวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษ โดยหนึ่งในสิ่งที่โดดเด่น และกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ คือ บ้านใบตาล อายุกว่า 100 ปี ซึ่งเป็นบ้านต้นแบบของชาว ต.รำแดง ที่ยังใช้อาศัยอยู่จนถึงปัจจุบัน
โดยเกือบทุกส่วนของบ้านใบตาลล้วนมาจากต้นตาลโตนด ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในพื้นที่ โดยเฉพาะฝาบ้านที่ทำจากใบตาลทั้งหมด รวมทั้งฝาห้องน้ำ ซึ่งใช้ทางตาลมาบดผสมกับปูนขาวเป็นแท่งแทนคอนกรีต และองค์ประกอบของบ้านในส่วนอื่นๆ ที่ยังคงรูปแบบเดิม เช่น หลังคาเป็นกระเบื้องดินเผา และห้องครัวยังใช้เตาถ่าน ปัจจุบัน บ้านใบตาลหลังนี้ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 40 หมู่ 6 ต.รำแดง โดยมี น.ส.อุบล บุญรัตน์ อายุ 40 ปี อาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 และมีทั้งนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ไปดูบ้าน และวิถีชีวิตดั้งเดิมไม่ขาดสาย
นายอุดม ทักขระ นายก อบต.รำแดง กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ของ ต.รำแดง ต่างหันกลับมาฟื้นฟูวิถีชีวิต และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดยเฉพาะวิถีชีวิต “โหนด นา ไผ่ คน” ซึ่งเป็นการพึ่งพาอาศัยระหว่าง ต้นตาลโตนด ผืนนา ต้นไผ่ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และผู้คนใน ต.รำแดง ที่ประกอบอาชีพการเกษตร
โดยบ้านใบตาล ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในฐานการเรียนรู้วิถี “โหนด นา ไผ่ คน” จากทั้งหมด 7 ฐาน ซึ่งได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นของสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะฝาบ้านที่ทำจากใบตาล ซึ่งต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้รับรางวัลระดับนานาชาติภูมิปัญญาท้องถิ่นยอดเยี่ยมจาก 3 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ โปแลนด์ และเกาหลีใต้
สำหรับฐานการเรียนรู้วิถีชีวิต “โหนด นา ไผ่คน” ทั้ง 7 ฐาน ประกอบด้วย ฐานการบริหารงานของ อบต.รำแดง วิถีความเป็นอยู่หรือวิถีตาลโตนด บ้านใบตาล ครัวรำแดง วัดป่าขวาง หัตถกรรมพื้นถิ่น และฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและแหล่งผลิตปอเทือง