MGR online - เวทีเสวนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองและเศรษฐกิจฐานรากฯ” คึกคัก เครือข่ายชุมชนริมคลองยื่นข้อเรียกร้องให้สำนักการระบายน้ำ กทม. ลดความกว้างของแนวเขื่อนให้เหลือพื้นที่กว้าง 20 เมตร เพื่อให้สร้างบ้านใหม่และรองรับชาวบ้านได้ทั้งหมด และให้พอช.ปล่อยสินเชื่อสร้างบ้านโดยปลอดดอกเบี้ย 5 ปี และลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 บาทต่อปี พร้อมทั้งเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ชาวบ้านเดินเรือในคลอง-ท่องเที่ยวชุมชน-ตลาดน้ำสร้างรายได้ ด้านปลัดกระทรวง พม.ขานรับข้อเรียกร้องชาวบ้านเตรียมนำข้อเสนอชงรัฐบาล ขณะที่ พอช. เตรียมหาที่ดินรองรับชาวบ้าน 2 ชุมชนริมคลองลาดพร้าวในเขตห้วยขวางที่อาจจะต้องย้ายออกจากแนวสร้างเขื่อน ส่วนอีก 5 ชุมชน คาดว่า จะเริ่มรื้อและสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิมได้ภายในเดือนเมษายนนี้
วันนี้ (17 มกราคม) เวลา 10.30 น. ที่ชุมชนร่วมใจพิบูลย์ 2 ริมคลองลาดพร้าว เขตห้วยขวาง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานเขตห้วยขวาง ประชาคมห้วยขวาง และเครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าว จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น และมีการเสวนาเรื่อง “การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายประชารัฐ” โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธาน มีหน่วยงานต่าง ๆ และชาวบ้านเข้าร่วมเวทีกันอย่างคึกคักกว่า 300 คน
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวง พม.กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำในคลองลาดพร้าวเพื่อป้องกันน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ นั้น พม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำแผนงานด้านที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับประชาชนที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากลำคลองและแนวก่อสร้างเขื่อน โดยกระทรวงได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.รับผิดชอบเรื่องที่อยู่อาศัย เนื่องจาก พอช. มีประสบการณ์และจัดทำโครงการบ้านมั่นคงมาตั้งแต่ปี 2546 ส่วนข้อเสนอจากชาวบ้านในวันนี้ ทางกระทรวงก็จะนำไปเสนอต่อทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. เพื่อนำไปเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
นายพลากร วงค์กองแก้ว ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า พอช. ได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามโครงการบ้านมั่นคง เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2559 - 2561) มีเป้าหมาย 74 ชุมชน รวม 11,004 ครัวเรือน มีผู้รับผลประโยชน์ 64,869 คน ใช้งบประมาณรวม 4,061 ล้านบาทเศษ แยกเป็น 1. งบสนับสนุนสาธารณูปโภคและที่อยู่อาศัย 880 ล้านบาท 2. ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาส 880 ล้านบาท 3. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 2,200 ล้านบาท และ 4. สำรวจและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาองค์กรชาวบ้าน และติดตามประเมินผล 100 ล้านบาท โดยในปี 2559 จะเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรก่อน จำนวน 26 ชุมชน รวม 3,810 ครัวเรือน ใช้งบ 1,401 ล้านบาทเศษ ส่วนพื้นที่ที่จะดำเนินการอยู่ในเขตสายไหม ดอนเมือง จตุจักร หลักสี่ และห้วยขวาง
“ส่วนข้อเสนอของชาวบ้าน เช่น การสนับสนุนงบเพิ่มเติมเพื่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภคจากครัวเรือนละ 75,000 บาทนั้น ทาง พอช.จะนำเสนอเพื่อขอให้ทางคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป และเห็นด้วยว่าชาวบ้านจะต้องแบกรับภาระในการรื้อย้ายบ้าน การหาพื้นที่เพื่อเช่าวางสิ่งของและสร้างบ้านพักหรือเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราว ซึ่งคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้คงจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ได้ ส่วนข้อเสนอเรื่องการลดดอกเบี้ยหรือปลอดดอกเบี้ยนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด พอช. ในเร็ว ๆ นี้” ผอ.พอช. กล่าว
เสียงจากคนริมคลอง
นายจำรัส กลิ่นอุบล ประธานเครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองบางซื่อ เขตห้วยขวาง กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักการระบายน้ำได้นำแนวธงมาติดตั้งตามชุมชนริมคลองต่างๆ เพื่อแสดงแนวเขตที่จะก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมให้ชาวบ้านเห็นได้อย่างชัดเจน และทำให้ชาวบ้านรู้ว่าชุมชนใดมีพื้นที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อนกี่เมตร เช่น ชุมชนลาดพร้าว 45 มีพื้นที่เหลือจากแนวก่อสร้างเขื่อนมายังที่ดินกรมธนารักษ์ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 12 เมตร ซึ่งไม่เพียงพอในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ทั้งชุมชน เนื่องจากจะต้องมีการสร้างทางเดิน หรือถนนเลียบคลองจากแนวสันเขื่อนเข้ามาในพื้นที่ชุมชนอีกประมาณ 3.50 เมตร รวมทั้งจะต้องมีการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียรวม ระบบไฟฟ้า ประปา ฯลฯ
“เครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อจึงได้ทำหนังสือถึงสำนักการระบายน้ำ ผู้บัญชาการทหารบก และปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อขอพื้นที่ที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมจากเดิมที่ทางสำนักการระบายน้ำได้กำหนดแนวเขื่อนเอาไว้ในคลองลาดพร้าว โดยมีความกว้างเขื่อนตั้งแต่ 32-38 เมตร ทำให้ชาวบ้านเหลือพื้นที่ที่จะสร้างชุมชนใหม่มีความกว้างเพียง 12 เมตร และบางช่วงก็แคบกว่านั้น ทำให้ไม่สามารถรองรับชาวบ้านได้ทั้งหมด และบางชุมชนก็ไม่สามารถอยู่อาศัยได้เลย ต้องรื้อย้ายไปหาที่ดินใหม่ คือ ชุมชนบึงพระราม 9 และชุมชนบึงพระราม 9 พัฒนา ใกล้ปากคลองลาดพร้าว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นก่อสร้างเขื่อน” ประธานเครือข่ายฯ กล่าว
นายจำรัส กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้บัญชาการทหารบกก็ได้เดินทางมาดูพื้นที่ชุมชนริมคลองแล้ว และ ผบ.ทบ. ได้บอกกับทาง กทม. ว่า แนวเขื่อนไม่จำเป็นต้องกว้างเท่ากัน อาจจะสร้างแนวเขื่อนที่กว้างประมาณ 10 - 20 เมตรก็ได้ เพื่อให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบน้อย ดังนั้น เครือข่ายฯ จึงมีข้อเรียกร้องให้เหลือพื้นที่ให้ชุมชนก่อสร้างบ้านได้ โดยมีความกว้างจากแนวสันเขื่อนเข้ามาในที่ดินกรมธนารักษ์ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ประมาณ 20 เมตร ซึ่งหากชุมชนมีพื้นที่กว้าง 20 เมตร ตลอดลำคลองก็จะทำให้สร้างชุมชนใหม่ได้ โดยมีรูปแบบเป็นบ้านแถวขนาด 2 ชั้น ความกว้างห้องละ 4 X 8 ตารางเมตร และสามารถสร้างบ้านได้ 2 แถวตลอดแนวคลอง รวมทั้งมีพื้นที่ให้ชาวบ้านได้สร้างสาธารณูปโภค เช่น บ่อบำบัดน้ำเสีย สวนหย่อม ศาลาเอนกประสงค์ ศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็ก ฯลฯ
นอกจากข้อเสนอดังกล่าวแล้ว ตัวแทนชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองบางซื่อยังมีข้อเสนอถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คือ 1. สินเชื่อที่ชาวบ้านขอใช้จาก พอช.เพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ ขอให้มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยเป็นเวลา 5 ปี 2. ขอลดดอกเบี้ยจากเดิมอัตราร้อยละ 4 บาทต่อปี ให้เหลือร้อยละ 1 บาทต่อปี ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี และในขณะที่ก่อสร้างบ้านก็จะทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ 3. ขอเพิ่มวงเงินสนับสนุนด้านการก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภคจาก 75,000 บาท
4. ชุมชนที่อยู่ในแนวเขื่อนและไม่สามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้ ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ประสานงานกับองค์การรถไฟฟ้ามหานครเพื่อขอใช้ที่ดินสร้างบ้านอยู่ชั่วคราว เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม 5. ขอให้ชะลอการรื้อถอนบ้านเรือนที่กำหนดเอาไว้ภายในเดือนเมษายนนี้ออกไปก่อน เพื่อให้ชาวบ้านได้มีโอกาสเตรียมตัว ทั้งในเรื่องการเตรียมที่อยู่อาศัยชั่วคราวและการทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์
6. ขอให้ กทม. จัดงบประมาณมาช่วยเหลือชาวบ้านในการรื้อย้ายและสร้างบ้านนอกเหนือจากงบประมาณจากทาง พอช. 7. ขอให้ กทม. หาที่ค้าขายชั่วคราว เช่น ริมฟุตบาท ใต้สะพานลอย เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ในระหว่างการสร้างบ้าน และ 8. ขอให้มีตัวแทนจากชาวบ้านชุมชนริมคลองเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในคณะกรรมการชุดใหญ่ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในระดับเขตเท่านั้น จึงทำให้ไม่สามารถรับรู้ข้อมูลหรือสะท้อนปัญหาไปถึงคณะกรรมการชุดใหญ่ได้
สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะนั้น มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการ มีคณะกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ ผู้อำนวยการ พอช. ฯลฯ โดยมีปลัด กทม.เป็นเลขานุการ นอกจากนี้ยังมีคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ อีก 5 คณะ เช่น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน, คณะอนุกรรรมการฯ ด้านการบริหารโครงการ มี รมว.มหาดไทยเป็นประธาน, คณะอนุกรรมการด้านการจัดหาที่อยู่อาศัยและพัฒนาริมคลอง มี รมว.พม.เป็นประธาน นอกจากนี้ ยังมีคณะทำงานระดับพื้นที่ในเขตหลักสี่, ดอนเมือง, บางเขน, จตุจักร, ลาดพร้าว, วังทองหลาง และห้วยขวาง โดยมีผู้อำนวยการเขตในเขตนั้น ๆ เป็นประธานคณะทำงาน
นายสุชีพ อารีประชาภิรมย์ ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลพบว่า ชุมชนริมคลองลาดพร้าวเขตห้วยขวางมี 7 ชุมชนริมคลองที่ได้รับผลกระทบ จำนวนบ้านเรือน 887 หลัง รวม 1,389 ครัวเรือน และประชากรจำนวน 4,062 คน โดยในช่วงเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ได้เปิดเวทีประชาคมเพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านไปแล้วทั้ง 7 ชุมชน รวม 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1,044 คน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีความเห็นว่าจะขออยู่ในที่ดินเดิม และขอจัดรูปแบบที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
“การทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในครั้งนี้ถือว่าเป็นการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะเขตห้วยขวางถือว่าเป็นย่านเศรษฐกิจ เป็นทำเลทอง อยู่ใกล้ศูนย์กลางความเจริญและสถาบันการศึกษาต่างๆ ชาวบ้านจะได้ปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ให้มั่นคง มีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ไม่ต้องรื้อย้ายไปอยู่ที่อื่น” ผอ.เขตห้วยขวาง กล่าว
สำหรับชุมชนริมคลองลาดพร้าวเขตห้วยขวางมีทั้งหมด 7 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนซอยลาดพร้าว 45, ชุมชนร่วมใจพิบูล 2, ชุมชนซอยลาดพร้าว 80, ชุมชนประชาอุทิศ, ชุมชนหลังสมาคมโรงเรียนไทย-ญี่ปุ่น, ชุมชนบึงพระราม 9 และชุมชนบึงพระราม 9 พัฒนา ส่วนชุมชนริมคลองบางซื่อที่เชื่อมต่อกับคลองลาดพร้าวมีทั้งหมด 6 ชุมชน เช่น ชุมชนลาดพร้าวซอย 34 ชุมชนลาดพร้าวซอย 42-44 ฯลฯ
เร่งจัดหาที่ดินรองรับชั่วคราว
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองจาก พอช. กล่าวว่า พอช.สนับสนุนให้ชาวบ้านจัดทำโครงการบ้านมั่นคง โดยการให้สินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านจำนวน 95 % ของเงินออมชาวบ้าน จากเดิมที่เคยอนุมัติจำนวน 90% เนื่องจากโครงการบ้านมั่นคงริมคลองเป็นโครงการเร่งด่วน โดยชาวบ้านจะต้องจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ แล้วออมให้ได้อย่างน้อย 5% ของวงเงินกู้ที่จะใช้สร้างบ้าน จากนั้นจึงเสนอใช้สินเชื่อจาก พอช. ได้
ส่วนเรื่องการเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์นั้น นายสยามกล่าวว่า เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้เซ็น MOU. เพื่อที่จะให้ชาวบ้านทำสัญญาเช่าที่ดินในราคาถูก ระยะเวลา 30 ปี หรือหากที่ดินเดิมไม่พอก็อาจจะหาที่ดินใหม่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม หรือหาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ มารองรับชาวบ้าน ซึ่งในกรณีของเขตห้วยขวางมี 2 ชุมชน คือ ชุมชนบึงพระราม 9 พัฒนา และบึงพระราม 9 รวม 236 ครัวเรือน ที่อาจจะต้องรื้อย้ายทั้งชุมชนเนื่องจากที่ดินเดิมอยู่ในแนวก่อสร้างเขื่อน ดังนั้นอาจจะต้องหาที่ดินมารองรับชาวบ้าน เช่นที่ดินในเขตสายไหมหรือมีนบุรีของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังที่มีอยู่แล้วประมาณ 20 แปลง ส่วนอีก 5 ชุมชนได้มีการจัดทำผังชุมชนและจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในบางชุมชนแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงานคาดว่าภายในเดือนเมษายนนี้จะเริ่มยื้อย้ายและสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิมได้ และจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2559
“ประเด็นที่สำคัญ ก็คือ ชาวบ้านจะต้องมีที่พักชั่วคราวก่อน และมีการทำสัญญาเช่าที่ดินกับกรมธนารักษ์ก่อนจึงจะรื้อย้ายบ้านเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่ ส่วนข้อเรียกร้องของชาวบ้านเรื่องการขอให้ทางสำนักการระบายน้ำลดแนวความกว้างของเขื่อนเพื่อให้มีพื้นที่เหลือให้ชาวบ้านได้สร้างบ้านใหม่นั้น ทาง พอช.จะประสานกับสำนักการรระบายน้ำเพื่อให้มีการเจรจาร่วมกับตัวแทนชาวบ้านเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ต่อไป” นายสยาม ชี้แจง
แผนงานเดินเรือ-ท่องเที่ยว-ฟื้นฟูคลอง
นายสำเนียง บุญลือ ประธานชุมชนร่วมใจพิบูลย์ 2 บอกว่า ชุมชนของตนมีบ้านเรือนทั้งหมด 244 หลัง ประชากรทั้งหมดประมาณ 1,200 คน มีพื้นที่ริมคลองยาวประมาณ 1,090 เมตร และจากการสำรวจวัดความกว้างของคลองมีความกว้างตั้งแต่ 20-25 เมตร หากทางสำนักการระบายน้ำจะสร้างเขื่อนขนาดความกว้างของคลอง 32 - 38 เมตร ชาวบ้านก็จะอยู่ไม่ได้ เพราะพื้นที่ของชุมชนและคลองรวมกันยังกว้างไม่ถึง 38 เมตร ดังนั้นชุมชนร่วมใจพิบูลย์ 2 จึงเสนอให้เหลือพื้นที่กว้างประมาณ 20 เมตรตลอดแนวลำคลองเพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่ในที่เดิมได้ และพร้อมที่จะจัดทำโครงการบ้านมั่นคง โดยในขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยขึ้นมา
“ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ขัดขวางโครงการก่อสร้างเขื่อน แต่ยังไม่มั่นใจเรื่องที่อยู่อาศัยว่าชาวบ้านจะอยู่ในที่เดิมได้หรือเปล่า เพราะเรื่องความกว้างของเขื่อนยังไม่ชัดเจน แต่หากอยู่ในที่เดิมได้ เราก็จะทำเรื่องบ้านมั่นคง ทำถนนเลียบคลอง การเดินเรือในคลอง รวมทั้งทำเรื่องการท่องเที่ยววิถีชุมชนด้วย” ประธานชุมชนร่วมใจพิบูล 2 กล่าว
นางพวงผกา จันทร์หิรัญ แกนนำชุมชนประชาอุทิศ กล่าวว่า ชาวบ้านในชุมชนต่างก็รับรู้โครงการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมของทางราชการแล้ว เพราะได้มีการจัดเวทีประชาคมไปเมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ชาวบ้านก็ได้เริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา มีสมาชิกประมาณ 140 ราย ออมกันเดือนละ 200 บาท และในต่อมาได้เพิ่มเป็นเดือนละ 500 บาท เพื่อให้แต่ละครอบครัวได้สะสมเงินออมมากขึ้น จะได้เพิ่มวงเงินสะสมให้ถึง 5% ของวงเงินที่จะกู้จาก พอช. เพื่อก่อสร้างบ้านมั่นคง
“เรื่องการรื้อบ้าน ย้ายบ้าน ความจริงแล้วก็ไม่ใครอยากจะรื้อหรอก แต่ชาวบ้านเห็นว่าเป็นโครงการของรัฐบาล และพวกเราก็อยู่ในที่ดินของหลวงมานานแล้ว ดังนั้นถ้าจะให้รื้อบ้านเพื่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม แล้วชาวบ้านยังสามารถอยู่ในที่เดิมได้ พวกเราก็ยินดีให้ความร่วมมือ” แกนนำชุมชนประชาอุทิศกล่าวและว่า หากมีการจัดทำบ้านมั่นคงในชุมชนก็จะต้องมีการจัดระบบสาธารณูปโภคใหม่ เช่น มีการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชนก่อนทิ้งลงคลอง การจัดการขยะ ไม่ทิ้งขยะลงในคลอง เป็นการช่วยกันฟื้นฟูคลอง
นายจำรัส กลิ่นอุบล กล่าวเสริมว่า เครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าวทั้ง 7 ชุมชน รวมทั้งชุมชนริมคลองบางซื่อ (ซอยลาดพร้าว 34-46) ซึ่งมีลำคลองเชื่อมกัน ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อจัดทำโครงการฟื้นฟูลำคลอง การอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม และการท่องเที่ยววิถีชุมชน ใช้ชื่อว่า “โครงการวิถีชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” โดยจะให้แต่ละชุมชนได้ศึกษาและจัดทำอัตลักษณ์ของชุมชนว่า ชุมชนใดมีจุดเด่นอย่างไร เพื่อนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ชุมชน เช่น ชุมชนร่วมใจพิบูล 2 มีอาชีพแกะสลักไม้เป็นจุดเด่น ชุมชนลาดพร้าวซอย 45 มีการอนุรักษ์ประเพณีการแห่เทียนเข้าพรรษาทางเรือ ส่วนคลองบางซื่อก็มีทิวทัศน์ร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่เรียงรายตามแนวคลองเหมือนเป็นอะเมซอนของกรุงเทพฯ
“เราก็ยังมีแผนงานที่จะเดินเรือในคลอง ซึ่งเมื่อก่อนก็เคยมีการเดินเรือจากสะพานใหม่ไปยังคลองพระโขนง แต่เป็นการเดินเรือโดยบริษัทเอกชน ชุมชนไม่มีส่วนร่วม แถมยังได้รับผลกระทบเพราะเรือวิ่งเร็ว เสียงดัง คลื่นไปกระแทกกับบ้านเรือน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน แต่โครงการที่เราจะทำนี้เราจะให้ชุมชนมีส่วนร่วม รู้ว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร ชาวบ้านจะได้อะไร เพื่อสร้างความเข้าใจและพัฒนาคลองร่วมกัน” แกนนำเครือข่ายฯ คลองลาดพร้าว ให้รายละเอียด
นายจำรัส กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกับตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวและสมาคมเดินเรือไทย นำคณะสำรวจเส้นทางเดินเรือและศักยภาพการท่องเที่ยววิถีชุมชน ซึ่งผลการสำรวจพบว่ามีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะการเดินเรือเชื่อมกับเส้นทางรถไฟฟ้าที่จะก่อสร้างในถนนลาดพร้าว จุดเริ่มต้นอาจจะเริ่มจากท่าเรือสะพานใหม่ลงมาในคลองบางบัว-คลองลาดพร้าว-สะพานสอง-พระราม 9 แล้วไปเชื่อมกับคลองแสนแสบ นอกจากนี้ เครือข่ายฯ ยังมีแผนการจัดทำตลาดน้ำบริเวณชุมชนร่วมใจพิบูล 2 และในคลองบางซื่อด้วย หรือหากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ และมีการก่อสร้างทางเดินเลียบคลองก็สามารถใช้ทางเดินเป็นไบค์เลนเพื่อขี่จักรยานท่องเที่ยวชุมชนได้ด้วย
ส่วนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในลำคลองนั้น นายจำรัส กล่าวว่า ที่ผ่านมา ชุมชนได้ทำแนวดักขยะในคลอง และมีแผนงานที่จะทำระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชนด้วย แต่หากท่อระบายน้ำทิ้งของ กทม.ยังปล่อยลงคลองโดยไม่มีการบำบัดเหมือนอย่างทุกวันนี้ การบำบัดน้ำเสียเฉพาะในชุมชนก็คงจะมีผลไม่มากนัก และจะโทษชุมชนไม่ได้เพราะชุมชนริมคลองเป็นเพียงปลายทาง ดังนั้น ทั้งชุมชนริมคลอง ทั้งกทม. รวมทั้งคนกรุงเทพฯ ก็จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วย ไม่ใช่สร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว แต่น้ำในคลองยังเน่าเหม็น จะใช้ประโยชน์หรือฟื้นฟูให้เป็นเวนิสตะวันออกก็คงเป็นไปได้ยาก
สำหรับโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมในช่วงแรก (พ.ศ. 2559 - 2561) ประกอบด้วย การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9-รามคำแหง ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงทะเลโดยจะสร้างเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล. ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาทเศษ โดยบริษัทริเวอร์เอ็นจิเนียริ่งจำกัด ประมูลงานได้ในวงเงิน 1,645 ล้านบาท และได้เซ็นสัญญาก่อสร้างกับ กทม.ไปแล้วเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ในเร็ว ๆ นี้