xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเชิดชู” ชี้อดีตบอร์ด สสส.สมัครใหม่ได้ แต่ต้องพิสูจน์ผลประโยชน์ทับซ้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอเชิดชู” ชี้ อดีตบอร์ด สสส. สมัครรับการสรรหาใหม่ได้ แต่ต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนว่าไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน ด้านเอ็นจีโอห่วงนายกฯ ไร้ท่าทีต่อภาคประชาสังคม ไม่พูดเรื่องปัญหาถูกรีดภาษี ขออย่าฟังความข้างเดียว จับตากระบวนการทำสิ่งผิดให้เป็นถูกหลังขอโทษ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาขอโทษต่อการออกคำสั่งปลด 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (บอร์ด สสส.) และเปิดโอกาสให้สามารถเข้ามาสมัครเป็นกรรมการได้อีก ว่า ตนคิดว่าอดีตกรรมการ สสส. ทั้ง 7 คน สามารถกลับเข้ามาสมัครรับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. อีกได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบ พิสูจน์ตัวเองก่อนว่าบริสุทธิ์ ปราศจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนจริงหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบสามารถทำได้ง่าย ผ่านการตรวจสอบทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ และทรัพย์สินที่เพิ่มพูนขึ้นมาว่า สอดคล้องกับผลการทำงานที่ผ่านมาจริง ๆ หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาพบกรรมการบางคนอยู่มูลนิธิรับทุนไปเยอะ หรือเป็นที่ปรึกษามายาวนานกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาหลายปีก็ได้รับงบประมาณไปเยอะเหมือนกัน ถ้ายังพิสูจน์ตัวเองไม่ได้ หากเข้ามาเชื่อว่าต้องมีเสียงคัดค้านแน่นอน

“เวลาที่กลุ่ม สสส. หรือ สปสช. ที่ถูกคำสั่ง ม.44 ตรวจสอบ ก็จะมีคนกลุ่มเดิม ๆ ออกมาบอกว่าไม่ได้รับความยุติธรรมหรือผิด แต่ที่ออกมาเพราะกลัวว่าตนเองจะเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับหรือไม่ สำหรับท่าทีของนายกฯ นั้น ทำให้คนเข้าใจผิดว่านายกฯ ขอโทษ เพราะทำผิดที่ไปปลดเขาออก และจะให้กลับเข้ามาทำงาน แต่ก็มาพูดใหม่ว่าขอโทษที่ทำให้โครงการบางอย่างไม่สามารถอนุมัติได้ เพราะบอร์ดที่เหลือไม่ครบ ทั้งนี้ ขอชื่นชมนายกฯ ที่เป็นสุภาพบุรุษ เมื่อเห็นว่าอะไรที่ทำไม่ถูกแล้วก็พร้อมที่จะขอโทษ และมีความพยายามแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แต่ถ้ากลับไปกลับมา หรือพูดไม่ชัดเจนก็จะทำให้เกิดความงุนงงในเรื่องมาตรฐานความดี ความถูกต้อง ความสุจริตโปร่งใส และธรรมาภิบาลอยู่ตรงไหน” พญ.เชิดชู กล่าวและว่า เช่นเดียวกับกรณีที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการ สสส. ที่อ้างว่าลาออกไปเพื่อให้มีการตรวจสอบ สสส.ได้อย่างสะดวก แต่กลับไปสมัครเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส ทั้งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์จนขาวสะอาด ทำให้เกิดความสงสัยเรื่องการสรรหาของไทยพีบีเอสเช่นเดียวกัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนต้องมีการแก้ไขอยู่แล้ว โดยทุกฝ่ายต้องรับฟังความเห็นของกัน แต่ไม่เห็นด้วยที่จะเอาคนเหล่านี้ออกไปจากระบบเลย เพราะถือว่ามีความเข้าใจในงานด้านสุขภาพ คนที่มีชื่อว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ควรจะปรับบทบาท แม้จะมีการเปิดทางให้กลับเข้ามาสมัครเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ก็ตาม โดยไม่อยู่ในส่วนงานบริหารที่ต้องอนุมัติงบประมาณ แต่อาจจะยังสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแทนได้

นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังกลยุทธ์สุรา กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าการขอโทษครั้งนี้มาจากเรื่องไหน คงต้องรอความชัดเจน แต่ที่แน่ๆ นายกฯ ไม่ได้แสดงออกต่อภาคประชาชนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานในโครงการของ สสส. ซึ่งประเด็นการแช่แข็งโครงการต่างๆ ที่ต้องรับงบสนับสนุนจาก สสส. ก็เป็นปัญหา และรอการแก้ไขอยู่ รวมถึงเรื่องภาษีที่กำลังถูกกรมสรรพากรเรียกนั้น ก็ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ทางภาคประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงอยากวอนขอให้แก้ไขเรื่องผิดพลาดนี้ด้วย เพราะการดองโครงการต่างๆ จนทำให้เกิดความล่าช้า ส่งผลต่อแผนงานของสสส.และภาคีที่ได้รับทุนทั้งหมด เดือดร้อนมาก ภาคีหลายองค์กรไม่สามารถปฏิบัติงานได้

“นายกรัฐมนตรี ไม่ได้พูดถึงเรื่องภาษีที่กรมสรรพากรบี้พวกเราอยู่ แต่ในเมื่อบอกว่าตรวจสอบแล้วไม่พบทุจริต ทำไมจึงให้สรรพากรมาไล่บี้พวกเราไม่เลิก ประเมินการค้าแบบธุรกิจบริษัท ซึ่งมองว่าไม่น่าจะตรงกับวัตถุประสงค์การทำงานของ สสส. ขอให้นายกฯ ช่วยเรื่องนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีที่บอกว่าให้วันที่ 18 มกราคม บอร์ด สสส.ทำงานตามปกติ ซึ่งเรามองว่าเป็นการแก้ไขตามกระบวนการอยู่แล้ว แต่เรื่องกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ถูกปลดออกไปนั้น ประเด็นสำคัญคือ ท่านนายกฯ ไม่ได้บอกว่าให้คืนตำแหน่งเลย เราขอดูความชัดเจนเรื่องนี้” นายคำรณ กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า รู้สึกดีที่มีการขอโทษ แต่ขอโทษอย่างเดียวไม่พอ สิ่งสำคัญคือต้องติดตามขั้นตอนและกระบวนการสู่การแก้ไขสิ่งที่ทำผิดพลาดด้วย หากไม่มีกระบวนการจัดการทำในสิ่งที่ผิดให้กลับมาถูก คำขอโทษก็ไม่มีความหมายอะไรเลย และวันที่ 18 มกราคมนี้จะประชุมได้จริงหรือไม่ แล้วสาระสำคัญของการประชุมจะเป็นอย่างไร รวมทั้งต้องดูความเป็นธรรมของกรรมการที่ถูกปลดไปด้วย

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ชื่นชมที่กล้าขอโทษ ถือว่ามีภาวะผู้นำ แต่ต้องยอมรับว่าต้องใส่ใจเรื่องข้อมูลให้มาก ผู้นำไม่ควรฟังความข้างเดียว ต้องคิดให้รอบด้าน และต้องเน้นภาคประชาสังคม ประชาชนต้องเข้มแข็ง ไม่ใช่เน้นเศรษฐกิจเติบโตอย่างเดียว แต่สิ่งที่ตนสงสัย คือ กรณีที่นายกฯ ออกมาขอโทษแล้ว แต่ยังยืนยันจะตรวจสอบการทุจริตต่อไป มองว่าทุกคนต้องถูกตรวจสอบ แต่ต้องเป็นการตรวจสอบตามข้อเท็จจริงไม่ใช่ตรวจสอบโดยฟังข้อมูลด้านเดียว และมีธรรมาภิบาล

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น