xs
xsm
sm
md
lg

ร้องสภาทนายฯ ตีความรีดภาษีเอ็นจีโอรับทุน สสส. นายกสภาทนายฯ ยันไม่ต้องจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายสุขภาพ ร้องสภาทนายฯ ตีความเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปี รวม 800 ล้านบาท ด้านนายกสภาทนายความ ยันไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษี เหตุรับเงิน สสส. ทำกิจกรรมไม่ใช่รับจ้าง ไม่ก่อเกิดรายได้ แนะปรึกษาทนายก่อนแจงสรรพากร หวั่นเสียรูปคดี

วันนี้ (14 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปภัมภ์ ราชดำเนิน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยแกนนำเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) กว่า 20 คน เข้าหารือนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ เพื่อขอความช่วยเหลือกรณีถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังกับมูลนิธิ และองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งรวมค่าปรับแล้วไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท และกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สั่งชะลอการจ่ายเงินโครงการสาธารณประโยชน์ที่ภาคประชาชนรับงบจาก สสส. โดยไม่มีกำหนด

น.ส.สารี กล่าวว่า เครือข่ายฯต้องการมาปรึกษาหารือและขอความช่วยเหลือจากนายกสภาทนายความ 2 เรื่อง คือ การเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 5 ปีจากองค์กรมูลนิธิต่าง ๆ ที่รับทุนจาก สสส. รวมถึงการเรียกติดอากรแสตมป์ สั่งให้ไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีกรณี คตร. สั่งชะลอโครงการทั้งหมดที่ภาคประชาชนขอรับทุนจาก สสส. จนตอนนี้กิจกรรมทุกอย่างต้องหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินต่อได้ทั้งที่มันควรต้องเดินหน้า ดังนั้น จึงต้องการมาขอความช่วยเหลือว่าสิ่งที่กรมสรรพกรให้ดำเนินการนั้นเป็นคำสั่งหรือไม่อย่างไร และเครือข่ายฯจะทำอะไรได้บ้างในทางกฎหมาย ซึ่งคงต้องขอคำแนะนำเพื่อเดินหน้าทำตามกฎหมาย เช่น ฟ้อง สสส. และ คตร. ได้หรือไม่

ขอชี้แจงกับสังคมที่ยังเข้าใจผิดว่าภาคประชาชนไม่ยอมเสียภาษี ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ หากเป็นงบค่าตอบแทนหรือเงินเดือนในโครงการ จะต้องถูกหักเสียภาษี ณ ที่จ่ายอยู่แล้ว พวกเราจึงไม่ได้หนีภาษีหรือเบี้ยว และอีกส่วนเป็นเงินที่ทำกิจกรรมทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือกรมสรรพกรต้องการให้เสียภาษีทั้งหมดและยังย้อนไปเก็บภาษีจากโครงการเก่าอีก 5 ปี จึงเป็นเรื่องยากเพราะกิจกรรมทำไปทั้งหมดแล้ว มันเป็นเงินในการดำเนินงาน ไม่ใช่เงินค่าตอบแทน ซึ่งไม่ได้เกิดรายได้เข้ากระเป๋าใคร แต่เป็นเงินที่องค์กรนำไปทำสาธารณะประโยชน์ทำกิจกรรม ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องเสียภาษีตรงนี้ และกรมสรรพกรต้องเข้าใจอย่าพยายามทำให้สังคมเข้าใจผิดหาว่าภาคประชาชนหนีภาษี ซึ่งที่ผ่านมาโครงการของ สสส. ก็เดินหน้ามานานสิบกว่าปีแล้ว ทำไม่จึงไม่มีการทักท้วงตั้งแต่ต้น” น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวว่า องค์กรเหล่านี้ทำงานสาธารณะมายาวนาน และความตื่นตัวทางการเมืองทำให้เกิดองค์กรลักษณะนี้มากขึ้นในสังคม ได้เข้ามาขับเคลื่อนสังคมในประเด็นต่างๆมากมาย รวมถึงการช่วยรัฐในแง่การให้บริการ อย่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเองก็ได้ให้คำปรึกษาแนะนำกับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ เป็นงานที่สนับสนุนภาครัฐชัดเจน ดังนั้น ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนองค์กรสาธารณะไม่ใช่สนับสนุนแบบการเมือง ถ้าสนิทถ้าเห็นด้วยก็สนับสนุน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ตัดออก หรือคุกคาม ซึ่งมันควรเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดองค์กรสาธารณประโยชน์ให้มากขึ้นในประเทศไทย ควรมองเราเป็นตัวช่วยมากกว่าเป็นตัวถ่วง หรือขัดแข้งขัดขารัฐบาล

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการสถาบันสื่อสร้างสรรค์และวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า เมื่อมีการระงับโครงการและเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ทำให้การบริหารงานลำบาก กระทบการสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ ล่าสุด โครงการหนังสือฟรีสำหรับเด็กแรกเกิดก็ต้องหยุดชะงักไป ทั้งที่เป็นงานด้านการพัฒนาสมองและเพิ่มทักษะให้กับเด็ก หรือแม้กระทั่งข้าราชการก็มีปัญหา เนื่องจากอาจเกิดข้อครหาว่าไม่เสียภาษี ถือว่าผิดวินัยอาจต้องออกจากราชการ อย่างไรก็ตาม เมื่อ สสส. ถูกกล่าวหา ทำให้สังคมหรือภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกับ สสส. เริ่มแคลงใจว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ทำให้องค์กรมัวหมอง ศักดิ์ศรีของคนทำงานหมดไป เมื่อรัฐทำแบบนี้กระบวนการปฏิรูปประเทศสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนคงไม่เกิดขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่สวนทางกันอย่างชัดเจน จึงขอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้สานต่องานสร้างเสริมสุขภาพทุกระดับ เพื่อส่งเสริมงานของรัฐให้สัมฤทธิ์ผล ดังนั้น สภาทนายความควรเข้ามาช่วยเหลือภาคประชาชนในเรื่องนี้ด้วย เพราะคำสั่งการเรียกเก็บภาษี การระงับโครงการเป็นสิ่งที่พวกเรายอมรับไม่ได้ และท้ายสุดประชาชน ชาวบ้านจะเสียโอกาส

นายเดชอุดม กล่าวว่า ทางสภาทนายความยินดีรับเรื่องและคงต้องดูในรายละเอียดโครงการที่รับทุนจาก สสส. ทั้งหมดก่อน ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วลักษณะของการรับทุนจาก สสส.เพื่อมาทำงาน ไม่เข้าข่ายการรับจ้างทำของอย่างที่กรมสรรพกรตีความ จึงไม่จำเป็นต้องเสียภาษี หากเปรียบก็เป็นเหมือนลูกจ้างชั่วคราว และขอเสนอภาคให้ภาคประชาชนดำเนินการคือ กลุ่มที่ถูกหนังสือเชิญให้เข้าชี้แจงจากกรมสรรพกร ขอให้มาปรึกษากับนักกฎหมายของทางสภาทนายความก่อนเพื่อไม่ให้เสียรูปคดี ส่วนกลุ่มที่ไปชี้แจงกับกรมสรรพกรมาแล้วและกลุ่มที่ดำเนินการตามคำแนะนำของสรรพกร ทางทนายความจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้ความช่วยเหลือ โดยตั้งคณะกรรมการดำเนินการมีรองนายกสภาทนายความเป็นทีมงาน และหลังจากนี้ขอให้ผู้เสียหายนำรายละเอียดต่าง ๆ มาให้เพิ่มเติมเพื่อประกอบการดำเนินการต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น