รักษาการเลขาฯ สปสช.ชี้ “บัตรทอง” ยั่งยืนต้องหาแหล่งเงินเพิ่ม เสนอร่วมจ่ายก่อนป่วยผ่านจ่ายสมทบแบบประกันสังคม และภาษี ย้ำหากเก็บ ณ จุดบริการต้องไม่กระทบการเข้าถึง แบ่งชนชั้น เผยแนวทางขึ้นกับ คกก.จัดทำแนวทางระดมทรัพยากรฯ และนโยบายรัฐบาล
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการหาแนวทางสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ว่า บัตรทองได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการโดยไม่เป็นภาระกับงบประมาณมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากองทุนบัตรทองโตขึ้นจริง แต่ไม่ใช่ 16-17% ของงบประมาณประเทศ ความจริงคือ 5% เท่านั้น แต่ตัวเลข 16-17% เป็นตัวเลขงบประมาณด้านสุขภาพของทุกกองทุน โดยงบของบัตรทองปีนี้อยู่ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือนของบุคลากร ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข 4 หมื่นล้านบาท เหลือซื้อบริการจริงๆ 1.1 แสนล้านบาท
นพ.ประทีปกล่าวว่า ที่ผ่านมามีมีนักวิชาการทั้งภายในและภายนอก สปสช.ได้ร่วมกันศึกษาหาวิธีการเพิ่มงบประมาณเข้ามาในระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันหมดว่าระยะยาวต้องมีส่วนร่วมจ่าย แต่วิธีการอาจจะเป็นการร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เช่น เก็บเงินสมทบคล้ายกับกองทุนประกันสังคม ส่วนอัตราจะอยู่ที่เท่าไรนั้นต้องขึ้นอยู่กับการคำณวนทางคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือการเก็บภาษีผู้บริโภค ภาษีการทำธุรกรรมทางการเงิน ภาษีน้ำมัน แต่ต้องระบุว่าสำหรับกองทุนบัตรทอง คือให้เป็นภาษีสำหรับกองทุนเฉพาะ (Earmarked Tax) ตรงนี้ยังต้องศึกษาเพราะมีผลกระทบกับแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกัน
“หากจำเป็นต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ หรือหลังเจ็บป่วย ซึ่งเดิมเก็บ 30 บาท ถ้าจะทำต้องไม่เป็นอุปสรรคกับคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะคนรายได้น้อยเข้าไม่ถึงบริการ หรือเกิดความรู้สึกว่าถูกแบ่งชั้น ดังนั้น อาจจะให้มีการร่วมจ่ายกรณีที่ต้องการบริการที่มากกว่ามาตรฐาน เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าบุคลากรพิเศษ เป็นต้น ดังนั้น โดยสรุปคือต้องมีการหาแหล่งงบประมาณจากหลายแหล่งมาเพิ่มเติมเพื่อให้ระบบยั่งยืน ส่วนแนวทางขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล” นพ.ประทีปกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการร่วมจ่ายจำนวนมาก มีการแสดงความเห็นว่าต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ควรเพิ่มภาระให้ประชาชนในการร่วมจ่าย นพ.ประทีปกล่าวว่า ความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพในการลดเจ็บป่วยเพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นหน้าที่ของทุกคน ส่วนภาระการจัดบริการสาธารณะเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐต้องหาวิธีการต่างๆ มาสนับสนุนบริการ ทั้งหมดก็คือเงินที่มาจากประชาชน แต่รัฐจะใช้ชื่อ หรือวิธีการเก็บอย่างไรเท่านั้นเอง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่