ศจย. สำรวจพบซองบุหรี่ย่านบันเทิงส่วนใหญ่เป็นบุหรี่นอก กว่า 32% ไม่เสียภาษี ชี้เม็ดเงินสูงมาก แนะเพิ่มมาตรการ
ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลสำรวจการบริโภคบุหรี่รอบสถานบันเทิง ใน กทม. เมื่อ ก.ย. 2558 โดยเก็บตัวอย่างซองบุหรี่ที่ทิ้งบริเวณรอบสถานบันเทิง พบว่า ร้อยละ14 เป็นซองบุหรี่ผลิตภายในประเทศ และร้อยละ 86 เป็นซองบุหรี่ที่ผลิตต่างประเทศ และพบว่า ร้อยละ 32 เป็นซองบุหรี่ที่ไม่เสียภาษีสรรพสามิตยาสูบไทยซึ่งเป็นบุหรี่นำเข้าทั้งหมด มีหลากหลายชนิดถึง 20 ยี่ห้อ และส่วนใหญ่เป็นยี่ห้อที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย
ผศ.ดร.ภิรดี ภวนานันท์ นักวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการศึกษาในโครงการการประมาณการบุหรี่ผิดกฎหมายในประเทศไทย 2544 - 2556 ได้รับทุนจาก ศจย. และ สสส. ประมาณการบุหรี่ผิดกฎหมายไว้เพียงร้อยละ 11 และรัฐสูญเสียเงินรายได้เฉลี่ย 6,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น บุหรี่ไม่เสียภาษีในย่านบันเทิงร้อยละ 32 ถือว่าสูงมาก นอกจากมาตรการปราบปรามบุหรี่ผิดกฎหมายทั่วไปที่กรมสรรพสามิต กรมศุลกากรและสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการอยู่แล้ว ควรมีมาตรการถือบุหรี่ข้ามพรมแดนได้ไม่เกิน 19 มวนด้วย เพื่อช่วยเพิ่มรายได้สรรพสามิตยาสูบ และลดการแพร่ระบาดของบุหรี่ราคาถูก และส่งผลให้ลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันอัตราการบริโภคยาสูบอยู่ที่ร้อยละ 20.7 ลดลงจากร้อยละ 21.4 ของปี พ.ศ. 2554 และยังมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการบริโภคยาสูบทั้งหมดเฉลี่ย 74,844 ล้านบาทต่อปี
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่