“หมอวิจารณ์” ชี้ สสส. ทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้กรอบ “สุขภาวะ” 6 ด้าน ตามแนวทางของ “เซอร์ไมเคิล” ที่เผยแพร่ใช้กันทั่วโลก จนได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เห็นด้วยตีกรอบการทำงานสุขภาวะภายใต้งบประมาณ ชี้ต้องจัดลำดับสำคัญเรื่องทำก่อนหลัง
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เซอร์ไมเคิล กิเดียน มาร์มอต ภาควิชาระบาดวิทยาและสาธารณสุข มหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ได้รับรางวัลพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2558 ด้านการสาธารณสุข โดยผลงานสำคัญ คือ ได้ทำการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ การป้องกันโรค และการสร้างเสริมพัฒนาศักยภาพของคนอย่างยั่งยืน และทำเป็นข้อเสนอแนวทางแก้ไขด้วยหลักปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อคุณภาพ (Social Determinants of Health) จำนวน 6 ด้านด้วยกัน คือ 1. เด็กทุกคนเกิดมาต้องมีต้นทุนชีวิตที่ดี 2. ทำให้เด็ก หนุ่มสาว และผู้ใหญ่บรรลุศักยภาพสูงสุดของตน ซึ่งมากกว่าแค่การศึกษา 3. ให้ทุกคนได้รับการว่าจ้างทำงานที่ดี 4. ทุกคนมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดี 5. ให้มีชุมชน พื้นที่ เพื่อชีวิตที่มีคุณภาพ หรือสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต และ 6. ส่งเสริมระบบกิจกรรมป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ
“ จะเห็นได้ว่าแนวทางแก้ปัญหาสุขภาพนั้น ครอบคลุมรวมไปถึงด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน อาชีพ และรายได้ ซึ่งแนวทางนี้ ก็คือ เรื่องของสุขภาวะ ซึ่งเริ่มมีการใช้ในอังกฤษก่อน ก่อนที่จะขยายไปยังยุโรป และองค์การอนามัยโลกก็นำมาใช้จนแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ซึ่งบุคคลต้นแบบในหลักการนี้ของไทยก็คือ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ไทยก็ยึดแนวทางนี้ในการสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดีมากว่า 10 ปีแล้ว แม้แต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็ใช้แนวทางของเซอร์ไมเคิล ในการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะมาโดยตลอด ” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การทำงานสร้างเสริมสุขภาพของ สสส. จึงเป็นเรื่องของสุขภาวะ (Well Being) ที่กว้างกว่าแค่เรื่องสุขภาพ (Health) การทำงานจึงไม่แปลกที่จะมีการสนับสนุน หรือร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่นอกเหนือจากแค่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องสินค้าสุขภาพ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีข้อเสนอของ นพ.เสรี ตู้จินดา ที่เสนอให้ตีกรอบการทำงานด้านสุขภาวะของ สสส. ตามงบประมาณที่ได้รับ โดยทำเรื่องที่ควรทำก่อน อะไรที่ไม่จำเป็นก็ให้ชะลอไว้ก่อน ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะนักเศรษฐศาสตร์ก็พูดเสมอว่าทรัพยากรนั้นมีจำกัด การทำงานทุกเรื่องต้องจัดลำดับความสำคัญ โดยทำเรื่องที่สำคัญก่อน แต่ในเรื่องของสุขภาพนั้นจะเห็นได้ว่าแนวทางแก้ปัญหาทั้ง 6 ด้านนั้น จะมีความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ ดังนั้น จะเลือกทำเรื่องสำคัญเพียงแค่ 1 - 2 ด้านไม่ได้ แต่ต้องเลือกเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกันของทั้ง 6 ด้านมาทำพร้อม ๆ กัน ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน สสส. ในการกำหนดประเด็นที่จะทำงาน ซึ่งต้องวางแผนในระยะยาวทั้ง 5 ปี 10 ปี ว่าจะแก้เรื่องใดก่อน
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่