xs
xsm
sm
md
lg

ป่วยไข้เลือดออกแต่ละคนรุนแรงต่างกัน ชู “อุดรธานี” คุมไข้เลือดออกดีสุดในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รพ.รามาฯ เผย อาการ “ปอ ทฤษฎี” ไม่ต่างจากวันก่อน ด้านผู้เชี่ยวชาญไวรัส ชี้ ไข้เลือดออกแต่ละคนรุนแรงต่างกัน เพราะความหลากหลายทางธรรมชาติ หนุนวิจัยการรักษาเฉพาะบุคคล คร. ชู อดุรธานี คุมไข้เลือดออกดีสุดในไทย

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ขณะนี้อาการโดยรวมของ ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ยังเหมือนวันที่ 16 พ.ย. 2558 ส่วนที่ผ่านมาโรงพยาบาลมีการให้รายละเอียดของอาการเกี่ยวกับปอด ไต หัวใจ แต่ไม่ได้กล่าวถึงอาการของสมอง เนื่องจากยังประเมิน 100% ไม่ได้ เพราะมีการให้ยา แต่จากการตรวจไม่พบร่องรอยว่ามีอาการสมองบวม จึงไม่ได้ให้ข้อมูลในส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลที่สำคัญโรงพยาบาลจะให้รายละเอียดต่อไป 

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า  ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นไวรัสตัวเดียวกัน เพราะมนุษย์มีความหลากหลายของพันธุกรรม ดังนั้น เมื่อติดเชื้อไข้เลือดออก แม้จะเป็นสายพันธุ์เดียวกัน การตอบสนองในระบบภูมิต้านทานและอื่น ๆ จึงไม่เท่ากัน อยู่ในกฎเกณฑ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ จึงเห็นว่าควรสนับสนุนให้มีการวิจัย เพื่อใช้เป็นการพยากรณ์โรคและหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมจำเพาะสำหรับบุคคล (Personalized medicine) มากกว่า

พญ.วิรงค์รอง เจียรกุล รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า อาการไข้เลือดออกในแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ที่รุนแรงจะเป็นกลุ่มที่ป่วยครั้งที่ 2 จึงทำให้ภูมิต้านทานทำงานมากเกินไปจนกระทบกับอวัยวะอื่น ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคน โดยมักพบในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ เพราะครั้งแรกมักป่วยในเด็ก ดังนั้น การป้องกันโรคจึงสำคัญที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณี ปอ ทฤษฎี ถือว่าพ้นระยะวิกฤตของไข้เลือดออกหรือยัง พญ.วิรงค์รอง กล่าวว่า คงบอกรายละเอียดไม่ได้ แต่โดยอาการทั่วไปตามหลักวิชาการแล้ว ไข้เลือดออกจะมีระยะของตัวเอง ซึ่งเมื่อผ่านพ้นไปประมาณ 10 วัน อาการที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับไข้เลือดออกแล้ว แต่จะเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการช็อกของผลพวงไข้เลือดออก ดังนั้น ช่วงระยะเวลานี้ จึงเป็นช่วงของการฟื้นฟูอวัยวะต่าง ๆ แต่จะใช้เวลานานแค่ไหนไม่สามารถบอกได้ ขึ้นอยู่กับภาวะของแต่ละบุคคล

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จังหวัดที่การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกเป็นอย่างดี คือ จ.อุดรธานี โดยพบว่าอัตราป่วยเป็นอันดับสุดท้ายของประเทศ พบเพียง 18.04 ต่อแสนประชาชน ขณะที่อัตราป่วยระดับประเทศอยู่ที่ 165.17 ถือเป็นจังหวัดที่เข้มแข็งที่สุด เนื่องจากผู้บริหารระดับจังหวัดให้ความสำคัญ โดยทุกวันที่ 1 ก.พ. ของทุกปี จะประกาศสงครามกับไข้เลือดออก โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สาธารณสุขอำเภอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดแนวทางมาตรการการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก และให้หน่วยงานต่าง ๆ ถือปฏิบัติอย่างชัดเจน และมีการประสานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อออกเทศบัญญัติและข้อบัญญัติในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างเป็นรูปธรรมในทุกระดับ มีมาตรการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของอุดรธานี ให้ทุกพื้นที่ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมที่ทุกจังหวัดควรดำเนินงาน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น