xs
xsm
sm
md
lg

5 เรื่องน่าห่วง ทำไข้เลือดออกระบาดรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

อาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกถึงขั้นวิกฤตของพระเอกหนุ่ม “ปอ ทฤษฎี สหวงษ์” ซึ่งขณะนี้ยังต้องรักษาประคับประคองอาการแบบวันต่อวัน เนื่องจากยังมีภาวะเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอด รวมถึงร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อที่รุนแรง ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไปจนทำลายตัวเอง โดยยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้ออย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้สังคมไทยเกิดความตระหนักถึง “ความรุนแรง” ของโรคนี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พยายามย้ำเตือนถึงโรคนี้มาโดยตลอด

สำหรับข้อมูลของโรคไข้เลือดออกนั้น นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. ระบุว่า โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งประเทศไทยพบทั้งหมด 4 สายพันธุ์ โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค การแพร่ระบาดมักจะเป็นปีเว้นปี โดยประเทศไทยมีการระบาดหนักเมื่อปี 2556 มีผู้ป่วยมากถึง 150,000 ราย โดยปี 2557 ผู้ป่วยลดลงเหลือประมาณ 40,000 กว่าราย และล่าสุด ในปี 2558 นี้ จนถึงเดือน พ.ย. พบผู้ป่วย 102,000 ราย เสียชีวิต 102 ราย อัตราการเสียชีวิตคือ ป่วย 1,000 ราย มักเสียชีวิต 1 ราย แต่จากการประเมินสถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมาแนวโน้มผู้ป่วยแต่ละจังหวัดยังคงที่ มีบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยมากขึ้น

ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3 - 4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ทั้งนี้ การติดเชื้อครั้งแรกอาการจะไม่รุนแรงมาก แต่การติดเชื้อครั้งที่สองที่ต่างสายพันธุ์จะทำให้เกิดอาการรุนแรง” ปลัด สธ. กล่าว

ความน่าเป็นห่วงของโรคไข้เลือดออกนั้น จากการสัมภาษณ์ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) โดยสรุปมีอยู่ 5 ประเด็น ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับ “ความใส่ใจ” ที่มีต่อตัวโรคไข้เลือดออกทั้งสิ้น คือ

1. ประมาทเพราะคิดว่าตัวเองไม่ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ เนื่องจากมีความคิดที่ว่าไข้เลือดออกมักป่วยเฉพาะในวัยเด็ก แต่ความเป็นจริงแล้ว โรคไข้เลือดออกถือเป็นโรคประจำถิ่นในประเทศไทย ทุกเพศทุกกลุ่มอายุสามารถป่วยด้วยโรคนี้ได้

นอกจากประชาชนเองจะไม่นึกถึงแล้ว ตัวของ “แพทย์” เองก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะคาดไม่ถึงว่าผู้ใหญ่จะเป็นโรคไข้เลือดออก ซึ่งได้มีการย้ำเตือนให้แพทย์ตระหนักถึงโรคนี้แล้ว

2. ไม่กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ นพ.โอภาส อธิบายว่า ยุงลายถือเป็นยุงบ้าน จึงมักวางไข่ตามแหล่งน้ำขังบริเวณบ้าน โรงเรียน หรือแม้แต่ในวัด โดยจากการสำรวจพบว่า บ้านของคนไทย 30% ยังมีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โรงเรียนพบ 40% ขณะที่ในวัดพบสูงสุดถึง 60% จึงต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ โดยการเทน้ำหรือเปลี่ยนน้ำในภาชนะต่าง ๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ เช่น แจกันดอกไม้ หรือหากในบ่อน้ำอาจปล่อยปลาเพื่อช่วยในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพราะลูกน้ำที่เกิดจากยุงลายที่มีเชื้อไข้เลือดออกก็จะมีเชื้ออยู่ในตัวเลย

3. ไม่ให้ความร่วมมือในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย หรือทำลายยุงลาย โดยพบว่าเมื่อเกิดการระบาดขึ้น และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีการลงพื้นที่สอบสวนโรคหรือเข้าไปทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จะไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปกำจัดภายในบ้าน ทำให้ปัญหายังคงมีอยู่ และทำได้เพียงแค่กำจัดบริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเพียงยุงรำคาญ ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

4. การวินิจฉัยอาการป่วยช่วงแรกของไข้เลือดออกนั้นทำได้ยาก ซึ่งบางคนอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าตนเองป่วยเป็นไข้เลือดออก ขณะที่การไปตรวจเลือดเพื่อดูว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ในช่วงต้นของการป่วย ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าป่วยหรือไม่ เพราะการวินิจฉัยจะดูจากเม็ดเลือดขาวที่ลดลง ความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้น เกล็ดเลือดต่ำลง ซึ่งการที่เกล็ดเลือดต่ำลงถือเป็นระยะท้ายของโรค และอาจทำให้เกิดภาวะช็อกได้ แต่บางครั้งอาการ ผลการตรวจร่างกาย และผลเลือดที่ออกมาก็ไม่สามารถวินิจฉัยได้ บางคนเกล็ดเลือดต่ำ แต่อาการป่วยน้อย ตรงนี้ขึ้นกับร่างกายของแต่ละคนด้วย

และ 5. ภาวะที่โลกร้อนขึ้น ทำให้การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอากาศที่ร้อนขึ้นจะเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี แต่อากาศที่หนาวหรือต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียสยุงก็จะตาย หากไปดูที่ประเทศญี่ปุ่นจะพบว่าที่ผ่านมาการระบาดไข้เลือดออกจะน้อย เพราะอุณหภูมิต่ำ แต่ปัจจุบันกลับพบการระบาดมา 2 ปีแล้ว เพราะโลกร้อนขึ้น ขณะที่ฝนตก ๆ หยุด ๆ ก็จะทำให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมาก

นพ.โอภาส กล่าวว่า ประเด็นสำคัญในการควบคุมโรคไข้เลือดออก จึงไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชนเป็นกำลังสำคัญในการช่วยควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งทำง่าย ๆ ด้วยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายตามบ้านเรือน ส่วนในโรงเรียนนั้น ปลัด สธ.จะมีการทำหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ใช้ชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ให้นักเรียนได้มีส่วนช่วยในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ ส่วนในวัด พระอาจทำเองไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนยิ่งต้องเข้าไปช่วยกัน

ประเด็นสำคัญคือต้อง “ใส่ใจ” และ “ร่วมมือ” กันจึงจะช่วยลดการระบาดของโรคที่อันตรายนี้ลงได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น