xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้"การเมือง-โกง"ตัวถ่วงชาติ หนุนบิ๊กตู่ใช้ม.44จัดการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการปฏิรูปประเทศเป็นหลักเพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 11 ด้าน ทำให้หลายฝ่ายมองว่าการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ จะสำเร็จและเป็นรูปธรรมหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการทำงาน สปท. เช่นกัน ในขณะที่สปท. เองก็ได้ดำเนินการเปิดศูนย์สื่อสารขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อเป็นช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อการปฏิรูปประเทศไทย “สวนดุสิตโพล”มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,392 คน ระหว่างวันที่ 19-24 ต.ค.58 สรุปผลได้ ดังนี้
1. สิ่งที่ “ถ่วงความเจริญ”ของประเทศไทยที่ต้องเร่งปฏิรูป ในสายตาประชาชน คือ อันดับ 1 การทุจริตคอร์รัปชันของทุกภาคส่วน87.21% อันดับ 2 ความขัดแย้งแตกแยกที่มาจากการเมือง 79.17% อันดับ 3 ผู้มีอิทธิพล /มาเฟีย 74.06% อันดับ 4 การไม่เคารกฎหมายของทุกภาคส่วน71.91% อันดับ 5 ขาดคุณธรรม จริยธรรม เห็นแก่ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม 65.88%
2.“แนวทางหลัก”ในการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างความเจริญ ในสายตาประชาชน คือ อันดับ 1สร้างคุณภาพทางการเมืองโดยเฉพาะนักการเมือง การซื้อสิทธิขายเสียง การโกงเลือกตั้ง 81.25% อันดับ 2 กวดขัน/เร่งรัด การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด75.65% อันดับ 3 เร่งสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมกับสังคมไทยโดยเฉพาะความยากจน 72.20% อันดับ 4 เร่งรัดปฏิรูปการศึกษาให้สามารถพัฒนาคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ66.81% อันดับ 5 ปลูกฝังความรักความสามัคคีของคนไทยทุกกลุ่ม 60.49%

3.“ความคาดหวัง”ของประชาชนต่อผู้ที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้บรรลุผล คือ อันดับ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่สามารถใช้มาตรา 44 ได้ 83.89% อันดับ 2 คณะคสช.และ ครม.ในชุดปัจจุบัน 78.08% อันดับ 3 ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง 76.34% อันดับ 4 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)71.39% อันดับ 5กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะศาลทั้งตุลาการและผู้พิพากษา 64.05%

** อีก 3-6 เดือนเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

ด้านกรุงเทพโพล โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็น นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 26 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3-6 เดือนข้างหน้า โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 12-21 ต.ค.58 ที่ผ่านมา พบว่า
ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 31.69 (เต็ม 100) เพิ่มขึ้น จากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 28.94 และเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือนตุลาคม 56 อย่างไรก็ตาม การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นถึงสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังอ่อนแอเป็นอย่างมาก
เมื่อวิเคราะห์ลงไปในแต่ละปัจจัยขับเคลื่อนพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 ค่อนข้างมาก ได้แก่ การส่งออกสินค้า(ดัชนีเท่ากับ 6.78) การลงทุนภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 14.41) และการบริโภคภาคเอกชน (ดัชนีเท่ากับ 12.71) ขณะที่ปัจจัยด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทำให้ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 56.78 ซึ่งเป็นครั้งแรก (นับจากเดือนเม.ย.56) ที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ขณะที่การท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยเดียวที่ทำงานได้ดี โดยมีค่าดัชนีเท่ากับ 67.80 แต่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน (เดือนก.ค.58)
เมื่อมองออกไปในระยะ 3 เดือนข้างหน้า ค่าดัชนีอยู่ที่ 67.39 เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งที่ผ่านมา (ค่าดัชนีเท่ากับ 59.51) และเมื่อมองออกไปในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ที่ค่าดัชนีอยู่ที่ 79.69 เพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน โดยดัชนีองค์ประกอบทั้งในระยะ 3 และ 6 เดือนข้างหน้า ทุกดัชนีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นักเศรษฐศาสตร์ยังคงมีความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า จะยังคงปรับตัวดีขึ้นกว่าปัจจุบัน และจะเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ด้านความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ ในประเด็นวัฏจักรเศรษฐกิจว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงใดของวัฏจักร พบว่า ร้อยละ 40.0 เห็นว่า อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว รองลงมาร้อยละ 25.0 เห็นว่า อยู่ที่จุดต่ำสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ ร้อยละ 18.3 เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงถดถอย ขณะที่ร้อยละ 11.7 เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว ร้อยละ 1.7 เห็นว่า เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขยายตัว และไม่มีนักเศรษฐศาสตร์คนใดเลยที่เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงสูงสุด
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า 1. เศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากที่สุดในรอบ 2 ปี
2. ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวที่สำคัญคือ การใช้จ่ายและลงทุนของภาครัฐ และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยที่มีบทบาทมากขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า 3. เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และปัจจุบันอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น