สำรวจพบคนไทยยังอ่านน้อย 40.4 หน้าจาก 100 หน้า ไม่ผ่านมาตรฐาน ชี้ใช้เวลาอ่านหนังสือ 166 นาทีต่อสัปดาห์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 222.5 นาทีต่อสัปดาห์ พบ 44.6% ไม่ซื้อหนังสืออ่านเลย เหตุไม่อ่านหนังสือเพราะชอบฟังวิทยุ ดูทีวี ไม่มีเวลาอ่าน สายตาไม่ดี ส่วนเด็กปฐมวัย พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟังน้อย แนะเพิ่มการอ่านให้ลูก กระตุ้นพัฒนาการ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านทุกเพศทุกวัย
วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวในการประชุมระดมแนวคิด “การพัฒนาตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย” ว่า สสส. ส่งเสริมการอ่านมิใช่เพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ส่งเสริมการอ่านเพื่อให้มีทักษะชีวิต สามารถจัดการสุขภาพตัวเองได้ การอ่านจึงถือเป็นรากฐานของการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะช่วยสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญาและช่วยหนุนการสร้างเสริมสุขภาวะด้านอื่น ๆ ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม การมีข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ถึงสถานการณ์การอ่านของประเทศถือว่าสำคัญ เพราะจะสามารถช่วยกำหนดแนวทางส่งเสริมการอ่านของประเทศ และยังเป็นข้อมูลติดตามผลของการรณรงค์ว่าช่วยให้การอ่านของประเทศเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด จึงได้ทำการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการการสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่าน ระยะที่ 2 โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย We Voice ที่เป็นนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยและหลายสาขาวิชา เพื่อสร้างตัวชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่สะท้อนภาพรวมการอ่านของประเทศ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน โดยสำรวจครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านระยะที่ 2 เป็นการวิจัยที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 การสำรวจแบ่งประชากรที่ศึกษาเป็น 2 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไปอายุตั้งแต่ 6 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และกลุ่มเด็กปฐมวัยที่อายุต่ำกว่า 6 ปีบริบูรณ์ โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่มประชาชนทั่วไปจำนวน 1,753 ตัวอย่าง ใช้เวลาอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ โดยใช้เวลาอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ 166 นาทีต่อสัปดาห์ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 222.5 นาทีต่อสัปดาห์ ร้อยละ 44.6 ไม่ซื้อหนังสือเลย สาเหตุที่ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือหรือสื่ออ่านต่าง ๆ เพราะชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่าคิดเป็นร้อยละ 30.7 ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 29 และสายตาไม่ดี ร้อยละ 19.4 นอกจากนี้ ร้อยละ 4.3 อ่านหนังสือไม่ออก เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อพบว่า ร้อยละ 18.2 มองว่าหนังสือมีราคาแพงเกินไป ร้อยละ 8.3 ไม่มีเงินซื้อ และร้อยละ 10.4 ไม่มีแหล่งให้ยืมหนังสือ ทั้งนี้ เมื่อนำผลทั้งหมดมาคำนวณดัชนีวัฒนธรรมการอ่านของประชาชนทั่วไปมีค่าเท่ากับ 40.4 หมายความว่าประเทศไทยยังมีวัฒนธรรมการอ่านที่น้อย หรืออาจเทียบเคียงได้ว่าคนไทยอ่านหนังสือเพียง 40.4 หน้าโดยเฉลี่ยแทนที่จะเป็น 100 หน้า
นางสุดใจ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มเด็กปฐมวัย สำรวจข้อมูล 398 ตัวอย่าง จากพ่อแม่ผู้ปกครองพบว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเท่ากับ 709.5 นาทีต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ให้เด็กฟังเฉลี่ย 615.8 นาทีต่อสัปดาห์ และอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 70.9 นาทีต่อสัปดาห์ โดยร้อยละ 74.6 มีการซื้อหนังสือให้เด็กอ่าน เมื่อสำรวจกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวที่ช่วยส่งเสริมการรักการอ่าน หรือการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.6 มีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยร้อยละ 83.2 อ่านหนังสือให้เด็กฟัง รองลงมาเป็นการให้คำชมเวลาเด็กอ่านหนังสือ ร้อยละ 81.3 และใช้เวลาอ่านหนังสือด้วยกันร้อยละ 78.6 เมื่อคำนวณค่าดัชนีวัฒนธรรมการอ่านเด็กปฐมวัยเท่ากับ 49.6 คือ มีพ่อแม่การอ่านหนังสือให้เด็กฟังในระดับปานกลาง
“ข้อเสนอแนะคือ ควรเน้นการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน พ่อแม่ ผู้ปกครองทุกเพศทุกวัยรักการอ่านมากขึ้น โดยสนับสนุนการมีพฤติกรรมตนเอง และเด็กๆ เยาวชนให้ชอบอ่านหนังสือากขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน ส่วนกรณีเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองควรเพิ่มการอ่านหนังสือให้ลูกหลานฟังมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็ก รวมถึงดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล สนับสนุนและส่งเสริมการผลิต พัฒนาเนื้อหา และรูปแบบของข้อมูล/ความรู้ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพ เพื่อมุ่งพัฒนาความรู้ และทักษะตามความสนใจของกลุ่มคนต่าง ๆ” นางสุดใจ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่