xs
xsm
sm
md
lg

ไตรมาส 3 ปี 58 คนไทยติดหนี้บัตรเครดิตเพิ่ม ร้อยละ 3.4 - ป่วยไข้เลือดออกเพิ่ม 3.7 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาส 3 ปี 58 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.2 “สภาพัฒน์” เชื่อชะลอตัวลง แต่ยอดติดหนี้บัตรเครดิตไตรมาส 3 ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือน ต่อยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 5.2 และ 3.4 ตามลำดับ จากสัดส่วนร้อยละ 4.6 และ 2.6 ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2557 ส่วนยอดหนี้สินเชื่อ ส่วนใหญ่เป็นหนี้จาการจัดซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 แถมยังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดแม้ไม่ใช่อัตราน่าตื่นตระหนก

วันนี้ (23 พ.ย.) นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ของปี 2558 ว่า สศช.พบว่าหนี้สินครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูงแต่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนมีรายได้ 27,545 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และรายจ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 21,818 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้เท่ากับร้อยละ 79.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 75.8 ในช่วงเดียวกันของปี 2556

ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นช้ากว่ารายจ่ายทำให้รายได้เหลือจ่ายของครัวเรือนเท่ากับ 5,727 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลงเมื่อเทียบกับเงินเหลือจ่ายของครัวเรือนในช่วงครึ่งแรกปี 2556 ซึ่งเท่ากับ 6,144 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 163,276 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.2 ชะลอตัวลงสอดคล้องกับข้อมูลหนี้สินครัวเรือนที่บุคคลธรรมดากู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งรายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่บ่งชี้ว่าหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 หนี้สินครัวเรือนที่กู้ยืมจากสถาบันการเงินมีมูลค่าเท่ากับ 10,714,318 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 80.6 ของ GDP

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง ยอดคงค้างการให้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสที่ 3 เท่ากับ 3,624,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 โดยสินเชื่อเพื่อการจัดซื้อที่ดิน ที่อยู่อาศัย อสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 การบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ขณะที่การหรือเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์ยังลดลงต่อเนื่องร้อยละ 2.7 การผิดนัดชำระหนี้ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิต ที่ผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 และ 24.5 ตามลำดับ

“ดังนั้น ในภาพรวมสถานการณ์หนี้สินครัวเรือนยังต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสัดส่วนของการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนต่อยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อบัตรเครดิต เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 5.2 และ 3.4 ตามลำดับ จากสัดส่วนร้อยละ 4.6 และ 2.6 ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2557”

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีความคืบหน้าของมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่ การช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ให้สูญเสียที่ดินทำกิน ได้มีการดำเนินการช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรประเภทนอกระบบไปแล้วจำนวน 7,634 ราย มูลหนี้ 2,964,530,957 บาท

นายปรเมธีกล่าวต่อว่า การส่งเสริมกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตคนทำงานอิสระ เป็นการสร้างโอกาสการออมในชีวิตที่สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่อายุ 15 ปี เสริมสร้างการออมเพื่อวัยเกษียณ เป็นการออมภาคสมัครใจ มีผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่เปิดรับสมาชิกวันที่ 20 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมาจำนวน 340,000 ราย ส่งเงินสมทบ 350 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-50 ปี และประกอบอาชีพเกษตรกรรม กองทุนการออมแห่งชาติคาดว่าจะรับสมาชิกได้กว่า 600,000 คน ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 1.5 ล้านคนในปี 2559 และ 3 ล้านคนในปี 2561 โดยรัฐบาลกำหนดเงินรองรับการจ่ายสมทบสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ในปีงบประมาณ 2559 เป็นจำนวน 1,420 ล้านบาท และเพื่อให้ได้ผู้สมัครตามเป้าหมาย จึงควรมีการประชาสัมพันธ์แผนเชิงรุกในการลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการออม ตลอดจนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการสมัครในแหล่งพื้นที่ชุมชนมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการเดินทาง

นายปรเมธีกล่าวว่า ส่วนภาวะสังคมไตรมาส 3 ของปี 2558 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นเทียบกับปี 2557 ร้อยละ 26.8 เป็นผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ผู้ป่วยไข้เลือดออก เพิ่มขึ้น 3.7 เท่า แม้ยังไม่ใช่อัตราที่ต้องตื่นตระหนก แต่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด นอกจากนี้ยังต้องระวังโรคมือเท้าปาก ปอดอักเสบ โรคฉี่หนู

ด้านการศึกษา สภาพัฒน์เสนอให้มีการเร่งรัดพัฒนา “การอ่านออก เขียนได้” อ่านคล่องเขียนคล่องและสื่อสารได้ เพื่อวางรากฐานสำคัญในการเรียนรู้ระดับสูงต่อไป ปรับสื่อ วิธีสอน และนวัตกรรมการแก้ไขปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อเพิ่มทักษะนักเรียนในด้านการเรียนรู้ ซึ่งการกำหนดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ต้องเหมาะกับศักยภาพของนักเรียนแต่ละช่วงวัยและมีการพัฒนากิจกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการผลิตกำลังคนใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การผลิตกำลังคนที่เน้นคุณภาพ เพื่อการสร้างนวัตกรรม (2) การเพิ่มศักยภาพช่างเทคนิคในภาคการผลิตให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการ และ (3) การพัฒนาประชาชนในระบบเศรษฐกิจฐานรากให้มีศักยภาพในการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับคดีอาญาโดยรวมลดลงแต่คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นซึ่งต้องจับตา ส่วนประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป คือ ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตแรงงาน การลดการดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน และหาแนวทางสร้างโอกาสให้เยาวชนที่กระทำผิดได้กลับสู่สังคม ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสสามที่ผ่านมามีการแก้ปัญหาการใช้แรงงานเด็กและขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย อย่างก้าวหน้ามากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น