“สภาพัฒน์” ชี้ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 พบอัตราการว่างงานแต่ชั่วโมงการทำงานลดลง เหตุแรงงานรอฤดูกาลเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนจากภาวะภัยแล้ง-การส่งออกที่หดตัว ขณะที่หนี้สินครัวเรือนและหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไตรมาสแรกเท่ากับ 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 เผย พบผู้สูงอายุร้อยละ 20 รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 20,000 ต่อปี เร่งรัฐส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ คาดอีก 20 ปีทะลุ 20.5 ล้านคน เผยสภาวะเศรษฐกิจทำลูกหลานไม่มีเงินให้แล้ว
วันนี้ (24 ส.ค.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 2/2558 ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. การจ้างลดลง อัตราการว่างงานต่ำขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นช้า โดยการมีงานทำลดลงร้อยละ 0.2 การจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 5.8 เป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้กิจกรรมทางการเกษตรลดลง เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูก ในขณะการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 คาดว่าจะมีผู้ว่างงานในไตรมาสสอง 3 แสนคน อัตราการว่างงานร้อยละ 0.88 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของจากปีก่อน โดยประเด็นที่ต้องติดตาม คือ รายได้ของแรงงาน และการเฝ้าระวังการเลิกจ้างแรงงานจากผลกระทบส่งออกที่ยังมีแนวโน้มลดลง และการย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
2. ขณะที่หนี้สินครัวเรือนยังต้องเฝ้าระวังอย่างมาก เนื่องจากมีการชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้ โดยในไตรมาสแรกเท่ากับ 10.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 คิดเป็นร้อยละ 79.9 ต่อจีดีพี ในขณะที่ไตรมาสที่ 2 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการผิดนัดชำระหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 28.8 โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อยอดคงค้างสินเชื่อเหล่านี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน โดยมีมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ทั้งการดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ การแก้ปัญหาหนี้สินครู
3. ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไตรมาสที่ 2 ปี 2558 มีมูลค่ารวม 33, 971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.3 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่มีมูลค่า 25,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยยังต้องเฝ้าระวังอย่างมากเรื่องการขายแอลกอฮอล์ใกล้สถานศึกษา 4. ภาวะความเจ็บป่วย ในไตรมาสที่ 2 นี้ ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังเพิ้มขึ้นโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า เพิ่มจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.2 ซึ่งต้องเฝ้าระวังเพราะมักมีการะบาดในช่วงฤดูฝน รวมทั้งต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเนื่องจากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 5. ความจำเป็นต้องผลักดันการทำงานของผู้สูงอายุ โดยสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยเพิ่มจากร้อยละ 6.8 ในปีก่อน เป็นร้อยละ 14.9 ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 32.1 ในปี 2583 ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาวะพึ่งที่เพิ่มสูงขึ้น และบางส่วนขาดความมั่นคงด้านรายได้
ทั้งนี้ สศช.ยังให้ความสำคัญของการทำงานผู้สูงอายุ จากบทความพิเศษเรื่อง “การทำงานของผู้สูงอายุ : ความจำเป็นที่ต้องผลักดัน” ศสช.เห็นว่า จะเป็นการลดผลกระทบจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยทั้งการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ การขาดแคลนแรงงาน และเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ธุรกิจบางส่วนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบและการเตรียมการจ้าง ขณะที่ลูกจ้างยังมีทัศนคติเชิงลบและขาดความรู้ถึงผลกระทบจากการขยายอายุการทำงานทำให้มีความต้องการทำงานไม่เกินอายุ 60 ปี ขาดกลไกขับเคลื่อน การส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุจึงควรมีความยืดหยุ่น ยึดหลักความสมัครใจ มีมาตรการจูงใจและลดอุปสรรคต่อการจ้าง รวมทั้งสนับสนุนด้านกฎระเบียบ กลไกจัดการ ตลอดจนมีนโยบายบำเหน็จบำนาญและการออมที่ส่งเสริมการทำงานของผู้สูงวัย
สศช.พบว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่สัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเพิ่มขึ้นจาก 4 ล้านคน (ร้อยละ 6.8 ของประชากร) ในปี 2537 เพิ่มเป็น 10 ล้านคน (ร้อยละ 14.9) ในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน (ร้อยละ 32.1) ในปี 2583 ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ส าคัญคือ ภาวะพึ่งพิงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีอัตราพึ่งพิงเพิ่มจากร้อยละ 19.7 ในปี 2553 เพิ่มเป็นร้อยละ 58.3 หรือในอีกด้านหนึ่งมีอัตราการเกื้อหนุนลดลงคือ มีวัยแรงงานดูแลลดลงจาก 5.8 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน เหลือเพียง 1.7 คน ในปี 2583 ทำให้วัยแรงงานไม่สามารถเกื้อหนุนได้เพียงพอ และยังพบถึงความมั่นคงด้านรายได้ของผู้สูงอายุ อายุคาดเฉลี่ยประชากรที่มีแนวโน้มจะสูงกว่า 80 ปี ทำให้มีเวลาหลังชีวิตการทำงานที่ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องบริหารเงินออมให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นหากไม่มีเงินบำนาญรายเดือน ขณะที่รายได้จากบุตรที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 52.3 ในปี 2550 เหลือร้อยละ 35.7 ในปี 2557 ทำให้การพึ่งพิงบุตรหลานไม่มั่นคงเพียงพอ แม้ว่ารัฐจะมีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานมีหลักประกันชราภาพเพิ่มขึ้น แต่รายได้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอ
“ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 20 มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปีซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำากว่าเส้นความยากจน จึงจำเป็นต้องส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ เพื่อลดภาระและเพิ่มคุณค่าให้กับผู้สูงอายุด้วย โดยการจ้างงานต้องให้ความสำคัญกับความรู้และประสบการณ์ของผุ้สูงอายุที่จะถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่ยังมีการจ้างงานผู้สูงอายุในจำนวนที่น้อยอยู่”
ส่วนค่าใช้จ่ายในการบริการทางสุขภาพ เงินอุดหนุนชราภาพ และเงินบำเหน็จบำนาญต่างๆ ผลการประมาณการงบประมาณรายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุของสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (2555) คาดว่ารายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 4.64 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 โดยอัตราการเพิ่มของรายจ่ายจะสูงกว่ารายได้ ซึ่งหมายถึงรัฐต้องกันเงินงบประมาณในสัดส่วนที่มากขึ้นเพื่อมาเป็นรายจ่ายเพื่อผู้สูงอายุในการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุ การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบข้างต้นแล้ว การทำงานที่เหมาะสมยังส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า การมีกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและมีสุขภาพดีขึ้น ประเทศต่างๆ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัยทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยจึงมีนโยบายที่จะผลักดันให้แรงงานมีการทำงานนานขึ้นรวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานมากขึ้นภาพรวมการทำงานของผู้สูงอายุปัจจุบันผู้สูงอายุมีแนวโน้มทำงานเพิ่มขึ้น