xs
xsm
sm
md
lg

สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คึกคัก ปล่อยกู้ผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว 553 ราย 10 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกรัฐบาล เผยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์คึกคัก ยอดปล่อยกู้ล่าสุด 10 ล้าน ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย 553 ราย ส่วนบริษัทที่ได้รับอนุญาตมี 9 ราย สนใจอีกกว่า 90 ราย รัฐบาลเร่งดำเนินการพิจารณาให้ใบอนุญาตอย่างรอบคอบ เพื่อเพิ่มทางเลือกแหล่งเงินทุนสำหรับรายย่อย แก้ดอกเบี้ยโหดนอกระบบ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินมาตรการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์)) ว่า จากผู้ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ Nano-Finance 9 ราย ขณะนี้เปิดบริการให้กู้เงินแล้ว 3 ราย ยอดการปล่อยกู้รวม 10,885,000 บาท จำนวนผู้ได้รับสินเชื่อรวม 553 ราย ซึ่งถือว่าการดำเนินงานคืบหน้าไปอย่างมาก จากเดือนที่แล้วยอดปล่อยกู้อยู่ที่ระดับ 600,000 บาทเท่านั้น ทั้ง 3 รายที่เปิดบริการแล้ว ประกอบด้วย 1. บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด ให้สินเชื่อไปแล้วประมาณ 33 ราย วงเงินรวม 690,000 บาท โดยให้กู้รายละ 10,000 - 30,000

2. บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด เริ่มให้สินเชื่อ 52 ราย วงเงินรวม 735,000 บาท โดยให้กู้รายละ 10,000 - 50,000 บาท และ 3. บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด ขณะนี้ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 515 ราย วงเงินรวม 9.46 ล้านบาท โดยให้กู้รายละ 10,000 - 20,000 บาท

“บริษัทที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการทั้ง 9 ราย ทยอยจัดทำระบบการปล่อยสินเชื่อเรียบร้อยแล้ว คาดว่า หลังจากนี้ จะทำให้ยอดการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับขณะนี้มีบริษัทจำนวนมากที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อ โดย 20 รายได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อ และที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ขณะที่อีกกว่า 70 ราย แสดงความสนใจ แต่ยังไม่ยื่นเอกสาร ซึ่งรัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการพิจารณาอย่างรอบคอบในการออกใบอนุญาต เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการเงิน สร้างทางเลือกแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยได้มากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูง บางเจ้าคิดถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับลูกหนี้”

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบอาชีพรายย่อย ที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สามารถกู้กับบริษัทที่ได้รับอนุญาตลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมีกระบวนการให้สินเชื่อที่ยืดหยุ่น มากกว่าการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ สอดคล้องกับคุณลักษณะของกลุ่มลูกหนี้ เช่น ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจใหม่ เป็นต้น และมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาท โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย + ค่าปรับ + ค่าดำเนินการ ไม่เกิน 36% ต่อปี ถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่าการกู้นอกระบบทั่วไป โดยผู้ประกอบการทั้ง 9 รายที่ได้รับอนุญาต ประกอบด้วย บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด, บริษัท ไทยเอซ แคปปิตอล จำกัด, บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน), บริษัท สหไพบูลย์ (2558) จำกัด, บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล จำกัด (มหาชน), บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด, บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด (ศรีสวัสดิ์เงินติดล้อ), บริษัท ไมด้าลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โดเมสติค แคปปิตอล 2015 จำกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น