“รังสรรค์” เร่งจัดแพกเกจกระตุ้น ศก. ชงให้ “รมว.คลัง” คนใหม่ โดยจะรวบรวมแผนงานของกระทรวงทั้งหมด ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว มั่นใจช่วยผลักดันนโยบายรัฐบาลได้ทันที “สศค.” แนะรัฐเร่งลงทุนเพื่อผลักดันจีดีพีให้เติบโตได้ 3% ขณะที่การจัดเก็บรายได้ 10 เดือนแรกปี 58 หลุดเป้า 7 หมื่นล้าน
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) กระทรวงการคลัง รวบรวมมาตรการ และยุทธ์ศาสตร์ทั้งระยะสั้น และระยะยาวของทุกกรม และหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การดูแลกระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมเสนอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง คนใหม่ รับทราบ และพิจารณาโครงการ และมาตรการต่างๆ ภายหลังที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ รมว.คลังคนใหม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายไว้ได้ทันที
ทั้งนี้ มาตรการที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้นประกอบด้วย มาตรการช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสินเชื่อของสถาบันการเงินของรัฐ (แบงก์รัฐ) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งหนี้ในระบบ และนอกระบบ เพื่อให้ประชาชนสามารถมาประกอบอาชีพได้ตามปกติ รวมถึงแผนการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทั้งงบประจำ และงบลงทุน ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของงบประมาณปี 2558 และแนวทางการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559
ขณะที่มาตรการระยะยาว ประกอบด้วย การปฏิรูปโครงสร้างภาษี ที่รัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยการลดช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจน เพื่อสร้างความเป็นธรรม และเท่าเทียมในสังคม โดยต้องรอให้ รมว.คลังพิจารณา และเห็นชอบ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง และร่าง พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อบริหารจัดการหนี้ที่รัฐบาลค้างจ่าย วงเงิน 7.3 แสนล้านบาท ด้วยการออกกฎหมายพิเศษล้างหนี้ของประเทศ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะรายงานความคืบหน้า และดำเนินการไปแล้ว เช่น การแก้ไขกฎหมายของ 3 กรมภาษี ทั้งกรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมสรรพากร เพื่อสร้างฐานรายได้ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดเก็บภาษีที่ผ่านการเห็นชอบของที่ประชุม ครม. และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งกฎหมายที่กระทรวงการคลังเสนอ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 ที่จะเริ่มประกาศใช้ภายหลังจาก 180 วัน โดยเฉพาะเรื่องของภาษีการรับโอน เพื่อให้สอดคล้องต่อภาษีมรดกไม่ให้เกิดการรั่วไหล
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่ดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ทั้งโครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) ที่กระทรวงการคลังได้อนุญาตให้กับผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ไปแล้ว 12 ราย และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่จะดูแลประชาชนที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และไม่เป็นสมาชิกของกองทุนเพื่อการชราภาพใดๆ ที่สมทบเงินจากรัฐ หรือนายจ้าง โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบตามที่กองทุนกำหนดไว้
ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เตรียมข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อเสนอให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง คนใหม่รับทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยประเมินว่าหากจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ที่ 3% รัฐบาลต้องเร่งรัดการลงทุนภาครัฐที่ยังมีเหลืออยู่ของปีงบประมาณ 2558 และไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเป็น 3 เดือนสุดท้ายของปี 2558 ที่มีเงินลงทุนภาครัฐ วงเงิน 5.4 แสนล้านบาท และเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ 5 แสนล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท หากสามารถเบิกจ่ายตามที่ สศค.ประเมินไว้ที่ 15% ของวงเงินรวม หรือคิดเป็น 1.5 แสนล้านบาท ให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ จะรายงานให้ทราบถึงตัวเลขการประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ สศค.ประเมินไว้ที่ 3% และตัวเลขต่างๆ เช่น ข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย การผลิต และการลงทุนของภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งการบริโภคของภาคเอกชน และประชาชนที่วัดจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) รวมถึงตัวเลขการส่งออกของไทยที่คาดการณ์ว่าติดลบที่ 4% สำหรับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 10 เดือนที่ผ่านมา ยังจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ 7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีแวตนำเข้าน้ำมันปรับลดลงตามไปด้วย