โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
เมื่อถึงคราว สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เข้ามาประเมินสถานศึกษาคราใด ปัญหาหนึ่งที่มักพบตามมาคือ การจัดฉาก หรือ “ผักชีโรยหน้า” แสดงผลงานต่าง ๆ ของโรงเรียน เพื่อให้ผ่านการประเมินคุณภาพ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นเคสโรงเรียนเอาผลงานเด็กมาพรีเซนต์ทั้งที่ไม่เคยสนับสนุน อย่างที่เคยมีนักเรียนออกมาเรียกร้อง หรือแม้แต่ครูเร่งทำผลงานกันอย่างสุกเอาเผากิน จนแทบไม่มีเวลาในการเรียนการสอน
ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่ สมศ. หรือแม้แต่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องการแก้ไขมาโดยตลอด โดย ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า จริง ๆ แล้วการประเมินคุณภาพสถานศึกษานั้น โรงเรียนแทบไม่ต้องทำอะไรมากเลย เพียงแค่นำสิ่งที่โรงเรียนทำเป็นประจำอยู่แล้วออกมาแสดงให้เห็นเท่านั้น เช่น มีวิธีในการสอนเด็กอย่างไรเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ปัญหาต่าง ๆ ที่โรงเรียนเผชิญมีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างไร หรือมีแนวทางแก้ปัญหาตัวชี้วัดที่ยังไม่ผ่านในการประเมินภายนอกรอบก่อนอย่างไร เป็นต้น ที่สำคัญ แต่ละโรงเรียนต่างก็มีการประเมินคุณภาพภายในอยู่แล้ว ก็ใช้สิ่งเหล่านั้นมาใช้ในการประเมินภายนอกต่อ
“ในอนาคตที่จะมีการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษาในระบบออนไลน์นั้น ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา เพราะเป็นการช่วยลดภาระการทำเอกสารของครู เนื่องจากสามารถกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ได้ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถกรอกข้อมูลเพิ่มได้ตลอด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำระบบรองรับ และตัวบ่งชี้ในการประเมิน”
ตัวอย่างหนึ่งของโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ สามารถผ่านเกณฑ์การประเมินของ สมศ. จากการประเมินภายนอกสถานศึกษารอบสองที่อยู่ในระดับพอใช้ มาอยู่ในระดับ “ดี” ได้ในการประเมินภายนอกสถานศึกษารอบสาม โดยไม่ต้องทำอย่างผักชีโรยหน้า คือ โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากมีนักเรียนจำนวน 106 คน ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องมีมากกว่า 120 คนขึ้นไป ขณะที่บุคลากรครูนั้นมีจำนวน 12 คน เปิดสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า โรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า ถือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กต้นแบบที่สามารถนำผลประเมิน สมศ. ในคราวก่อนมาปรับปรุงและพัฒนาจนสามารถผ่านเกณฑ์ประเมินจนอยู่ในระดับดีได้ และตั้งเป้าการประเมินภายนอกรอบสี่ให้อยู่ในระดับดีมาก ทั้งที่มีอุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษามาก ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กที่มักอยู่ตามชนบทห่างไกลส่วนใหญ่มักพบกับ 5 ปัญหาเหล่านี้ คือ 1. ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้เรียนเป็นชนชาติพันธุ์ ไม่ได้พูดภาษาไทย จึงมีปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 2. งบประมาณได้รับเป็นรายหัว เมื่อเด็กน้อยจึงได้งบประมาณน้อย 3. บุคลากรครูน้อย ไม่ครบชั้นเรียน เนื่องจากครูมีการย้ายตลอด บางช่วงอาจไม่มีครูเหลือ หรือเหลือครูเพียงคนเดียว ทำให้การเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง 4. ขาดระบบข้อมูลสารสนเทศที่มีคุณภาพ และ 5. ขาดการนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกมาใช้ปรับปรุงพัฒนา
น.ส.ธนิกานต์ ทาอ้าย ครูประจำโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่า กล่าวว่า อุปสรรคต่อการพัฒนาสถานศึกษาขนาดเล็กทั้ง 5 ข้อนั้น ร.ร.วัดงิ้วเฒ่า ล้วนเผชิญทั้งหมด โดยตนมาเป็นครูประจำที่นี่เมื่อ 5 ปีก่อน พบว่า การประเมินภายนอกรอบสองนั้นโรงเรียนอยู่ในระดับพอใช้ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังต้องปรับปรุง เนื่องจากเด็กระดับชั้นประถมศึกษาเผชิญปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่วนระดับมัธยมศึกษาพื้นฐานของเด็กก็ไม่ค่อยเก่ง เพราะรับเด็กด้อยโอกาสมาจากโรงเรียนมัธยมในอำเภอที่ถูกคัดออก ขณะที่ครูเองก็มีไม่ครบชั้น จึงได้มีการประชุมครูว่าจะทำอย่างไร ซึ่งพบว่าโครงการต่าง ๆ ของโรงเรียนมีมาก แต่ไม่ได้มีการทำจริง จึงนำเอาโครงการมาหลอมรวมเหลือเป็น 5 โครงการใหญ่ มีกิจกรรมที่หลากหลาย
น.ส.ธนิกานต์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังให้ครูออกเยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อรับทราบว่านักเรียนมีปัญหาอะไร ผู้ปกครองต้องการอะไร โดยเอาปัญหามาตั้งเป็นจุดหมายที่ต้องการพัฒนา ที่พบคืออยากให้ลูกอ่านออกเขียนได้ แนวทางแก้ปัญหา คือ มีการจัดทำสื่อนวัตกรรมการเรียนการสอน จัดครูสอนพิเศษเพิ่มเติมทั้งช่วงเย็นของวันธรรมดาและวันเสาร์ อาทิตย์ โดยระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้นจะเน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้ให้มาก ส่วนระดับมัธยมนั้นก็ให้เขาเรียนให้ได้ตามศักยภาพของเขา แต่หากมีทักษะอะไรก็พร้อมส่งเสริม รวมถึงมีการนำระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มาใช้ตามคำแนะนำของ สมศ. เพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
“ สิ่งที่พยายามดำเนินการคือสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครูให้เกิดขึ้น การที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เรียนไม่เก่งนั้น ถามว่าเป็นความผิดของเด็กหรือไม่ จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับครูที่จะทำอย่างไรให้เด็กเข้าใจ และต้องรู้จักขวนขวายหาความรู้ เทคนิควิธีในการสอนต่าง ๆ เพื่อให้เด็กเข้าใจ เช่น วิชาภาษาไทย เด็กไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนรูปแปลงร่างของสระ ก็มีการเอาการ์ตูนอุลตราแมนมาเปิดให้เด็กดู ให้เด็กเข้าใจว่าอุลตราแมนยังแปลงร่างได้ สระก็เช่นกันสามารถเปลี่ยนรูปจากตัวนี้ไปเป็นตัวนี้ได้เหมือนกัน เป็นต้น ”
“ หรืออย่างการเรียนผ่านระบบ DLTV มีคำแนะนำว่าครูปลายทางที่อยู่โรงเรียนห่างไกลต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจด้วย ซึ่งตัวครูเองนั้นอาจไม่ได้เชี่ยวชาญทุกวิชา ตัวครูก็ต้องทำการบ้านด้วย และต้องจดบันทึกครูในโทรทัศน์สอนอะไร เด็กมีปัญหาอะไร และจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งต้องบันทึกทุกวัน เพื่อให้การเรียนการสอนสัมฤทธิ์ผล ที่จริงแล้วการเรียนการสอนที่ไม่สัมฤทธิ์ผลจึงมองว่าครูอาจยังทำหน้าที่ไม่เต็มที่ แต่สำหรับโรงเรียนวัดงิ้วเฒ่าเราพยายามสร้างจิตวิญญาณนี้ให้แก่ครู ”
น.ส.ธนิกานต์ กล่าวว่า ในการประเมินภายนอกรอบสาม โรงเรียนก็ให้ สมศ. ดูในสิ่งที่โรงเรียนและครูได้ดำเนินการ ก็เอาของจริง สิ่งที่ทำจริง ๆ มาให้ดูว่าเรามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งสุดท้ายการประเมินภายนอกรอบสามก็ได้อยู่ในระดับดี
การประเมินที่ไม่ต้องมีการจัดฉาก หรือทำอย่างผักซีโรยหน้า โดยแสดงให้เห็นถึงของจริง สิ่งที่ทำจริง ๆ การทำให้โรงเรียนผ่านการประเมินไปอยู่ในระดับดีก็ไม่ใช่เรื่องยาก ซึ่งการประเมินภายนอกสถานศึกษารอบสี่ที่กำลังจะมาถึงนั้น ร.ร.วัดงิ้วเฒ่า อาจจะผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับดีมากตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็เป็นได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่