งานวิจัยที่มีคุณภาพ สามารถช่วยสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศได้ แต่ที่ผ่านมางานวิจัยในไทยกลับยังไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่าที่ควร จะเห็นได้ว่า เมื่อเอ่ยถึง "งานวิจัย" สิ่งที่ปรากฏในห้วงคิดแรกๆ มักจะเป็น "ไม่มีงบสนับสนุน" "ทำเสร็จก็ขึ้นหิ้ง ไม่มีการต่อยอด"
ปัญหาสารพัดของงานวิจัยในประเทศไทยนั้น ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. สะท้อนมุมมองว่า เป็นเพราะการวิจัยในไทยยังขาดความชัดเจนในเรื่องที่จะทำวิจัย ขาดแคลนเครื่องมืออุปกรณ์ในการวิจัย ขาดการประเมินผลที่ดีเพื่อต่อยอดพัฒนางานวิจัยขั้นต่อไป และยังขาดการบูรณาการในทุกระดับ ส่งผลให้ประสิทธิภาพของงานวิจัยยังไม่เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณภาพเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังขาดแคลนทรัพยากรเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย บุคลากรสายวิจัย สายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีจำนวนไม่เพียงพอ และการวิจัยไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น
"งานวิจัยถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการชี้วัดคุณภาพของสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา และการยกระดับประเทศ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังประสบปัญหาด้านผลผลิตของงานวิจัย โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษายังมีจุดอ่อนของการพัฒนางานวิจัยที่ต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน" ผอ.สมศ. กล่าว
นอกจากประเด็นความขาดแคลนเครื่องมือและทรัพยากรต่างๆ แล้ว อีกสาเหตุที่ส่งผลต่อปัญหางานวิจัยของไทย คือ เรื่องระบบฐานข้อมูลของงานวิจัย โดย ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า งานวิจัยของไทยมีความกระจัดกระจายอย่างมาก ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการสืบค้นข้อมูล เพื่อนำมาต่อยอดองค์ความรู้ หรือเกิดความซ้ำซ้อนในเรื่องของการวิจัย
" ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยผลิตงานวิจัยออกมากว่า 400,000 - 500,000 เรื่อง โดยที่ วช.มีอยู่ 100,000 - 200,000 เรื่อง ซึ่งถือเป็นสถานที่เก็บรวมรวมผลงานวิจัยไว้มากที่สุด แต่ก็มีเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น ส่วนผลงานวิจัยที่เหลือจะถูกจัดเก็บอยู่ที่ตัวผู้วิจัยหรือเจ้าของผลงานเอง หรือถูกจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลของคณะ หรือมหาวิทยาลัย ไม่ได้ถูกรวบรวมมาเก็บรวมกันไว้เพื่อความสะดวกในการค้นคว้า หรือนำไปพัฒนาต่อยอด " ศ.นพ.สุทธิพร กล่าว
ขณะที่อีกปัญหาใหญ่สำหรับงานวิจัย ศ.นพ.สุทธิพร ระบุว่า เป็นเพราะการใช้คำศัพท์ในการวิจัยที่แตกต่างกัน อย่างในช่วงเวลา 10 ปีจะมีความแตกต่างกันมาก ทำให้มีปัญหาในการสืบค้นข้อมูล หรือเกิดความซ้ำซ้อนในเรื่องของวิจัย ดังนั้น ประเทศไทยต้องสร้างฐานข้อมูลงานวิจัยเป็นองค์รวมเพื่อลดการซ้ำซ้อนของงานวิจัย สามารถต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถใช้งบประมาณในการทำวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ซึ่ง วช.พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการเชื่อมต่อฐานข้อมูล สถาบันการศึกษาก็นำงานเข้ามาไว้ในคลังข้อมูลงานวิจัยไทย มองว่าจะทำให้งานวิจัยที่จะผลิตขึ้นมาใหม่มีคุณค่า และนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อีกทั้งการประเมินคุณภาพภายนอก โดยการตรวจสอบข้อมูลงานวิจัยของหมาวิทยาลัยโดย สมศ.ก็จะทำได้ง่ายขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาด้านการวิจัยของไทยในระยะยาวนั้น ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เสนอไว้ 3 แนวทาง ดังนี้ 1.วิจัยจากปัญหาของประเทศ ในปัจจุบันมีนักวิจัยบางส่วนเน้นการทำวิจัยเพื่อต้องการตำแหน่งทางวิชาการและทุนในการวิจัย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วผู้วิจัยควรทำวิจัยในหัวข้อที่ตนถนัดหรือมีความเชี่ยวชาญ เพราะจะทำให้ผู้วิจัยสามารถมองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทะลุปรุโปร่ง และสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ดีที่สุด รวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของประเทศ
2.ปลูกฝังวัฒนธรรมการวิจัยแก่นักศึกษา มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของงานวิจัย โดยการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการวิจัย เพื่อให้นักศึกษาได้เห็นถึงความสำคัญของการทำวิจัย ความรู้และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
และ 3.บูรณาการการสอนพร้อมงานวิจัย นักวิจัยที่ดีจะต้องคำนึงถึงจิตวิญญาณงานวิจัยว่า คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่และให้มองว่าการสอนกับงานวิจัยเป็นเรื่องเดียวกัน โดยให้งานวิจัยเป็นตัวสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้นักศึกษา ขณะเดียวกันผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยสนับสนุนด้านการอำนวยความสะดวกให้นักวิจัย โดยเฉพาะอาจารย์ใหม่ๆ เช่น มีนักวิจัยพี่เลี้ยง งบประมาณและไม่สร้างความกดดันมากจนเกินไป
หากสามารถปิดจุดอ่อนของงานวิจัยไทยได้สำเร็จ ประเทศไทยจะมีคลังความรู้ที่มีคุณภาพ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาและประเทศได้อีกมาก
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่