สกว. จับมือสถาบันวัคซีนฯ ทุ่มงบ 70 ล้านบาท ปั้น นศ. ปริญญาเอก ภายใน 5 ปี มุ่งพัฒนาบุคลากร วิจัย และพัฒนาวัคซีน นำร่องวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเดงกี ม.มหิดล วิจัยเดงกีนาโนวัคซีน 2 รูปแบบ ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในหนูทดลองดีขึ้น
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการร่วมให้ทุนพัฒนาบุคลากรระดับปริญญาเอกระหว่าง สกว. และ สวช. ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ เปิดเผยว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อร่วมพัฒนาบุคลากรวิจัยระดับปริญญาเอก และสร้างผลงานวิจัยที่มีศักยภาพ โดยจะร่วมกันจัดสรรงบประมาณ 70 ล้านบาท รวมจำนวน 35 ทุน ภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 - 2563 โดยหวังว่าจะสามารถขยายความร่วมมือลักษณะนี้ไปยังหน่วยงานวิจัยภาครัฐแห่งอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองคาพยพในระบบวิจัยของประเทศให้เติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นพ.จรุง กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนของประเทศค่อนข้างมีข้อจำกัด ทั้งจำนวน และศักยภาพของบุคลากร สถาบันฯ ได้จัดการให้ทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนตามเป้าหมายของชาติตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันมีโครงการวิจัยที่ได้ให้การสนับสนุนทุนแล้วรวมทั้งสิ้น 20 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนที่อยู่ในนโยบายวัคซีนแห่งชาติ และวาระแห่งชาติด้านวัคซีน ได้แก่ วัคซีนไข้เลือดออกเด็งกี วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันวัณโรคชนิดใหม่ รวมถึงการพัฒนาการทดสอบเพื่อการประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน ทั้งนี้ ความร่วมมือกับ สกว. ในการสนับสนุนทุนให้นักศึกษาระดับปริญญาเอก เพื่อผลิตนักวิจัยที่มีคุณภาพ จะช่วยให้มีงานวิจัยด้านวัคซีนที่มีคุณภาพ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้ประเทศมีความเข้มแข็งในการวิจัยพัฒนา
ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลงานวิจัยโครงการวัคซีนไข้เลือดออกเดงกี “A novel dengue nanovaccine” ว่า องค์การอนามัยโลกประมาณการไว้ว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี หรือไข้เลือดออก ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ หรือวัคซีนป้องกันได้ ตนได้ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารอเมริกัน (AFRIMS) ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวทช. โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สกว. AFRIMS และ สถาบันวัคซีนฯ เพื่อพัฒนาเดงกีนาโนวัคซีน 2 รูปแบบ คือ 1. เดงกีนาโนวัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated-dengue nanovaccine) ที่มีบีซีจีเป็นสารเสริมฤทธิ์ ที่ช่วยให้วัคซีนกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น 2. เดงกีนาโนวัคซีนที่มีโปรตีนอีดี 3 และ เอ็น-ไตรเมทิลไคโตซาน เป็นอนุภาคนาโน (EDIII-NS1-dengue nanovaccine) และมีสารเสริมฤทธิ์ วัคซีนทั้งสองรูปแบบนี้ใช้ไคโตซานเป็นระบบขนส่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารเสริมฤทธิ์ด้วย ทำให้ร่างกายเกิดการตอบสนองต่อวัคซีนได้มากขึ้น รวมถึงสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในหนูทดลองได้อย่างดีอีกด้วย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่