xs
xsm
sm
md
lg

แล็บในบราซิลผลิต “ยุงจีเอ็ม” ต้าน “ไข้เลือดออก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โซเฟีย ปินโต ถือโถบรรจุยุงจีเอ็มที่ผลิตมาเพื่อต้านไข้เลือดออก (ภาพประกอบทั้งหมดจากเอเอฟพี)
บริษัทไบโอเทคสัญชาติอังกฤษเปิดแล็บดัดแปลงพันธุกรรมยุงในบราซิล เพื่อสร้างยุงต้าน “ไข้เลือดออก” ที่พบมากที่สุดในดินแดนแซมบ้าแห่งนี้ และนับเป็นการผลิตยุงจีเอ็มแห่งแรกของโลกเพื่อต้านโรคเขตร้อนดังกล่าว

รายงานจากเอเอฟพีระบุว่า ออกซิเทค (Oxitec) บริษัทซึ่งทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากอังกฤษได้ตั้งห้องปฏิบัติการแห่งใหม่ขึ้นในบราซิล โดยห้องแล็บที่อยู่ในเมืองกัมปีนัสดังกล่าว ได้จำลองสภาพอากาศร้อนชื้นในช่วงฤดูร้อนของบราซิล เพื่อเพาะเลี้ยงยุงต้านไข้เด็งกี่ (dengue fever) หรือไข้เลือดออก

ยุงต้านไข้เลือดออกดังกล่าวเป็นยุงสายพันธุ์แอเดสแอกิปติ (Aedes aegypti) ที่ออกซิเทคดัดแปลงพันธุกรรมให้สามารถต้านการแพร่กระจายของไวรัสก่อโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งในปีนี้บราซิลเป็นประเทศที่ถูกไข้เลือดออกคุกคามมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

โซเฟีย ปินโต (Sofia Pinto) นักชีววิทยาชาวโปรตุเกสวัย 32 ปีผู้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมแล็บอันร้อนอบอ้าว กล่าวถึงสภาพแวดล้อมของห้องปฏิบัติการว่า เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงยุงแอเดสแอกิปติมากที่สุด โดยในแล็บ 1 ห้องนั้นมีฝูงยุงตัวจำนวนมากผสมพันธุ์กับยุงตัวผู้ที่มีเพียงหยิบมือ ส่วนแล็บอีกห้องก็เพาะเลี้ยงลูกน้ำอยู่ภายในถาดหลายสิบใบ และอีกห้องแล็บก็มีขวดบรรจุยุงตัวผู้ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมและพร้อมปล่อยสู่ธรรมชาติแล้ว

ยุงดังกล่าวมีชื่อว่า OX513A ตามที่ออกซิเทคตั้งชื่อให้ และเป็นยุงที่ได้รับการใส่ยีนที่มีกลไกทำลายตัวเอง ส่งผลให้ลูกน้ำของยุงที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมตายก่อนจะกลายเป็นยุงที่โตพอจะผสมพันธุ์ได้ เป็นการป้องกันการแพร่พันธุ์ของยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก  

ทางด้านบริษัทออกซิเทคระบุว่า หากยุงจีเอ็มเพศผู้จำนวนมากพอถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ ยุงเหล่านั้นจะผสมกับยุงตัวเมียในปริมาณมากพอที่จะลดจำนวนประชากรยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจขจัดประชากรพาหะของไข้เด็งกี่จนหมดไปได้
 
อย่างไรก็ดี ทางการของบราซิลยังไม่อนุญาตให้ขายยุงดังกล่าว และความเคลือบเคลงต่อพันธุวิศวกรรมก็ได้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบที่ยุงจีเอ็มเหล่านี้จะมีต่อระบบนิเวศ แต่ปินโตไม่ได้ใส่ใจต้อความกังวลเหล่านั้น และกล่าวว่ายุงแอเดสแอกิปติเป็นสิ่งมีชีวิตรุกรานจากต่างถิ่นที่มีกำเนิดในแอฟริกา และถูกแพร่มายังบราซิลในยุคปัจจุบัน และเป็นยุงในเมืองที่แพร่กระจายอย่างมาก ซึ่งการกำจัดออกไปจากสิ่งแวดล้อมไม่ได้ส่งผลกระทบใหญ่ อีกทั้งยังไม่ใช่นักผสมเกสรที่สร้างแหล่งอาหารจำเพาะต่อสัตว์และแมลงอื่นๆ

ยุงดัดแปลงพันธุกรรมดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2002 และได้รับการทดสอบระดับโครงการนำร่องที่เกาะเคย์แมน สหรัฐฯ มาเลเซีย รวมถึงรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล แต่บราซิลคือประเทศแรกที่จะนำยุงดังกล่าวไปใช้ในระดับมหภาค หรือจะอนุญาตให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

โรงงานผลิตยุงดัดแปลงพันธุกรรมของออกซิเทคก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน ก.คงที่ผ่านมา และมีกำลังผลิตยุงได้สัปดาห์ละ 500,000 ตัว โดยศักยภาพการผลิตในอนาคตเพิ่มได้ถึง 2 ล้านตัว ซึ่งหน่วยงานทางภาครัฐคือกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทและเป็นกลุ่มที่อยู่ด่านหน้าในการต่อสู้กับไข้เด็งกี่
 
ในปีนี้บราซิลเผชิญกับไข้เด็งกี่รุนแรงที่สุด เฉพาะปีนี้จำนวนผู้ป่วยอย่างเป็นทางการอยู่ที่ 659,051 ราย และเสียชีวิตแล้ว 249 ราย และตอนนี้ยังไม่มียารักษาโรคจากไวรัสนี้ มีเพียงการบำบัดตามอาการ โดยอาการไข้คล้ายๆ ไข้หวัดรุนแรงที่มาพร้อมอาการปวดศรีษะ ปวดข้อและกล้ามเนื้อ มีอาการอาเจียนและมีผื่น ในรายที่มีอาการรุนแรงผู้ป่วยอาจเสียเลือดจนช็อคหรือเสียชีวิตได้

ด้าน เอสเปอร์ คัลลัส (Esper Kallas) ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อของบราซิล จากโรงพยาบาลซิริโอ-ไลบาเนส (Sirio-Libanes Hospital) ในเซาเปาโล กล่าวว่าการระบาดของโรคทุกอย่างเป็นความล้มเหลวของระบบสาธารณสุข และเป็นภาระอันใหญ่หลวง ซึ่ง “ยุงจีเอ็ม” คือหนทางพื้นฐานที่จะต่อสู้กับโรคติดเชื้อนี้ แต่จะได้ผลหรือไม่ต้องรอผลในระยะยาว 
ยุงจีเอ็มเพศเมียที่ถูกขังไว้เพื่อผลิตไข่
ลูกน้ำของยุงจีเอ็มที่ผลิตมาเพื่อต้านไข้เลือดออก






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น