xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน สัปดาห์ละแค่ 166 นาที

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เปิดผลดัชนีวัฒนธรรมการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ของคนไทยไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน อ่านหนังสือสัปดาห์ละ 166 นาที อ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 222.5 นาทีต่อสัปดาห์ แนะพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง กระตุ้นพัฒนาการ ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน

ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน วันนี้ (15 ธ.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน (We Voice) จัดประชุมระดมแนวคิด “การพัฒนาตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย” โดยนางวิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส.กล่าวว่า การอ่านเป็นปัจจัยสำคัญของการนำไปสู่พฤติกรรมเชิงบวกด้านสุขภาวะ ในทางทฤษฎีแล้วถือกันว่าเป็นรากฐานของการสร้างเสริมสุขภาพ เพราะช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทางปัญญาและช่วยหนุนการสร้างเสริมสุขภาวะด้านอื่นๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคม การมีข้อมูลที่สามารถบ่งชี้ถึงสถานการณ์การอ่านของประเทศ ถือว่าสำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแนวทางส่งเสริมการอ่านของประเทศ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลติดตามผลของการรณรงค์ว่าช่วยให้การอ่านของประเทศเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด จึงได้ทำการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการ “การสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่าน ระยะที่ 2” ได้รับความร่วมมือจากเครือข่าย We Voice ที่เป็นนักวิชาการจากหลายมหาวิทยาลัยและหลายสาขาวิชา ทั้งสถิติ เศรษฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สังคมศาสตร์ เพื่อสร้างตัวชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพที่สะท้อนภาพรวมการอ่านของประเทศ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน โดยการสำรวจครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และครอบคลุมคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งการประชุมจะเป็นการหารือแนวทางการพัฒนาตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านให้เหมาะสม ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ด้านนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.กล่าวว่า ผลการศึกษาโครงการสร้างตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยกลุ่มประชาชนทั่วไป ทั้งหมด 1,753 ตัวอย่างพบว่า กลุ่มตัวอย่างใช้เวลาในการอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ 166 นาทีต่อสัปดาห์ และอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 222.5 นาทีต่อสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันประชาชนนิยมการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะสื่อที่มีการแชร์ผ่านสังคมออนไลน์ อย่างไรก็ตาม จากการหาค่าดัชนีวัฒนธรรมการอ่านจะมีค่าอยู่ในช่วง 0-100 การสำรวจครั้งนี้ได้ค่าดัชนีเท่ากับ 40.4 หมายความว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่น้อย ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานซึ่งต้องได้ค่าดัชนีเท่ากับ 50 ขึ้นไป

นอกจากนี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายในการซื้อสื่อสิ่งพิมพ์เฉลี่ย 272 บาทต่อเดือน โดยร้อยละ 55.4 ที่มีการซื้อและร้อยละ 44.6 ไม่ได้ซื้อหนังสือเลย สำหรับสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือและสื่อต่างๆ มากที่สุด คือ ชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่า ร้อยละ 30.7 รองลงมาคือ ไม่มีเวลาอ่าน ร้อยละ 29 และสายตาไม่ดี ร้อยละ 19.4 นอกจากนี้ มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4.3 ที่อ่านหนังสือไม่ออก เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.2 มองว่าหนังสือมีราคาแพงเกินไป ร้อยละ 8.3 ไม่มีเงินซื้อ และร้อยละ 10.4 ไม่มีแหล่งให้ยืมหนังสือ

ขณะที่การสำรวจตัวอย่างจากพ่อแม่ผู้ปกครอง 398 คน ของกลุ่มเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปีบริบูรณ์ พบว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเท่ากับ 709.5 นาทีต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ให้เด็กฟังเฉลี่ย 615.8 นาทีต่อสัปดาห์ และอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 70.9 นาทีต่อสัปดาห์ เมื่อสำรวจกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวที่ช่วยส่งเสริมการรักการอ่านหรือการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้กับเด็กในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.6 มีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยร้อยละ 83.2 จะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง รองลงมาเป็นการให้คำชมเวลาเด็กอ่านหนังสือ ร้อยละ 81.3 และร้อยละ 78.6 ใช้เวลาอ่านหนังสือด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีวัฒนธรรมการอ่านเด็กปฐมวัยได้ค่าดัชนีเท่ากับ 49.6 หมายความว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีการอ่านหนังสือให้เด็กฟังในระดับปานกลาง

“ข้อเสนอแนะสำคัญที่ได้จากการวิจัยนี้ คือ ควรเน้นการรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชน พ่อ แม่ ผู้ปกครองทุกเพศทุกวัยรักการอ่านมากขึ้น โดยสนับสนุนการมีพฤติกรรมตนเอง และเด็กๆ เยาวชน ให้ชอบอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน ส่วนกรณีเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองควรเพิ่มการอ่านหนังสือให้ลูก หลานฟังให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์และสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ รวมถึงดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล สนับสนุนและส่งเสริมการผลิต พัฒนาเนื้อหา และรูปแบบของข้อมูล/ความรู้ในรูปแบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณภาพ เพื่อมุ่งพัฒนาความรู้ และทักษะตามความสนใจของกลุ่มคนต่างๆ” นางสุดใจกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น