xs
xsm
sm
md
lg

ไขความสำเร็จ “ว่าที่คนข่าว” รางวัลสายฟ้าน้อยจากนิเทศสวนนัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประกาศผลอย่างเป็นทางการไปแล้ว สำหรับ “รางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 11” ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้แสดงความสามารถด้านการผลิตรายการ และเปิดโอกาสให้ได้นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นช่องทางในการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่วิชาชีพหลังจบการศึกษา

โดยนักศึกษาสาขาวารสารสนเทศ กลุ่มสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสารคดีเชิงข่าวโทรทัศน์ “รางวัลสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 11” ประเภทวิถีชุมชน มาได้ จากผลงานในชื่อ “พึ่งพา อย่างพอเพียง” ท่ามกลางผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งหมด 62 เรื่อง จาก 22 สถาบันการศึกษา โดยได้รับโล่เกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

น.ส.ภควดี พุ่มเหรียญ หรือน้องแอม นักศึกษาสาขาวารสารสนเทศ เปิดเผยถึงความเป็นมาของการประกวดว่า เริ่มจากพวกเรามีความสนใจ และตนได้มีโอกาสเข้าค่ายเชิงปฏิบัติการสายฟ้าน้อย ครั้งที่ 12 ซึ่งจัดโดยสมาคมนักข่าววิทยุปละโทรทัศน์ไทย ฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตสารคดีเชิงข่าววิทยุโทรทัศน์ เรียนรู้การถ่ายภาพ การตัดต่อ การคิดประเด็น การลงเสียง ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตงานของการทำสารคดีเชิงข่าว จึงทำให้เกิดความสนใจและมีใจรักในการทำสารดีเชิงข่าวมากขึ้น และพวกเราทั้ง 4 คนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ว่าเราจะส่งผลงานเข้าประกวด จนล่าสุดได้รับรางวัลชนะเลิศ

กระบวนการดำเนินงานถ่ายทำ ได้มีการพัฒนาผลงานจากเดิม คือ การได้รับคำแนะนำจากวิทยากร การนำข้อแนะนำมาพัฒนา แก้ไขให้ดียิ่งขึ้น เมื่อครั้งลงพื้นที่จากการเข้าร่วมอบรมโครงการสายฟ้าน้อย ทางสมาชิกได้คัดเลือกบุคคลที่มีประสบการณ์จริง โดยเสน่ห์และจุดเด่นของผลงานดังกล่าว คือ ผู้ที่ดำเนินเรื่อง มิใช่เพียงแค่เล่าเรื่องเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการเล่าเรื่องโดยการสื่ออารมณ์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สำคัญของผลงาน

ด้านนายก้องเกียรติ วิรุฬห์ธนวงศ์ หรือน้องเก่ง เล่าว่า แรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือ เห็นแนวทางการทำสื่อสิ่งพิมพ์แล้วเกิดความสนใจ ตั้งแต่เรียนสาขาวารสารสนเทศ ได้ฝึกปฏิบัติเขียนข่าวเพื่อลงสื่อออนไลน์ใน website “สุนันทานิวส์” ของมหาวิทยาลัย การฝึกทำข่าวรายวัน รายงานข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ ทวิตเตอร์ จนกระทั่งมีการเพิ่มหลักสูตร Broadcast Journalism วารสารเพื่อการแพร่ภาพและการกระจายเสียง เนื่องในปัจจุบันสื่อมีการหลอมรวมมากขึ้น (Convergence) โดยการบูรณาการสื่อมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ สื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์

สำหรับผลงาน “การพึ่งพา อย่างพอเพียง” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น น้องเก่ง กล่าวว่า ผลงานดังกล่าวทางสมาชิกในกลุ่มนำเสนอเป็นลำดับแรกในประเด็นที่ตนเองสนใจ โดยยึดกรอบทางสมาคมที่ระบุว่า การผลิตงานข่าว จะเป็นข่าวประเภทใดก็ได้ แต่ต้องมีคุณภาพ มีคุณค่า มีจรรยาบรรณ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยประเด็นข่าวที่เลือก จะเลือกมองสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และระดมความคิดกันว่าสิ่งที่พบเจอในถิ่นที่เราอาศัยอยู่ คืออะไร จนท้ายที่สุดได้เลือกประเด็นเกี่ยวกับ การพึ่งพาอย่างพอเพียง เนื้อเรื่อง เกี่ยวกับชาวนาชาวไร่ที่ประสบปัญหาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ โดยมีวิถีการทำนาที่เปลี่ยนไปจากเดิม มีการกู้หนี้ยืมสิน ทำพืชไร่เชิงเดี่ยว อาทิ ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งมีฤดูกาลเก็บเกี่ยวเพียงปีละครั้ง และมีการลงทุนมหาศาล ใช้ยาฆ่าแมลง ประกอบกับราคาข้าวที่ตกต่ำลง ทำให้การลงทุนกับรายได้ไม่สัมพันธ์กัน ชาวบ้านจึงประสบปัญหารายได้ไม่เพียงพอ เกิดปัญหาภาวะยากจน จึงทำให้เกิดข้อสังเกต และมีการคิดประเด็น โดยมองมุมที่ว่ามีชาวนาชาวไร่ที่สามารถผ่านจุดวิกฤตดังกล่าวสามารถดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น หันมาทำการเกษตรอินทรีย์ การพึ่งพาตนเอง การทำพืชไร่แบบผสมผสาน ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกพืชผสมกันตามสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่

ตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง คือ ป้าน้อย ที่ประกอบอาชีพทำไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ซึ่งมีการใช้สารเคมีในการบำรุงรักษาผลผลิต แต่ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร จึงพบกับปราชญ์ชาวบ้าน คือคุณป้าทิวาพร ผู้ให้ความรู้ด้านการเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน มีการขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักรายวันและรายเดือน และในขณะเดียวกันได้ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยวอีกด้วย เรียกได้ว่า เหนื่อยครั้งเดียวได้รายรับตลอดทั้งปี ท้ายที่สุดป้าน้อยได้นำวิธีการเกษตรแบบพอเพียงมาใช้ในการประกอบอาชีพในครอบครัวของตนเอง กล่าวคือ พอมีพอกิน ยั่งยืน มีความสุขและสะดวกสบาย และตอบสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการดำรงวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง

น้องเก่งกล่าวว่า การทำผลงานส่งประกวดนั้น ได้นำความรู้จากการเรียนนำมาใช้ในผลงานการประกวดได้เต็มร้อย ซึ่งในห้องเรียนได้มีการเรียนภาคทฤษฎี และจากการฝึกปฏิบัติ นอกจากนั้นได้แสวงหาความรู้จากการเข้าร่วมอบรมจากภายนอก หลักสูตร Backpack Journalist ซึ่งนักข่าวจะต้องทำได้ทุกอย่าง เป็น one man show และประยุกต์ความรู้ที่ได้รับจากการค้นคว้าแหล่งการเรียนรู้เพิ่มเติมในยุค Convergence อีกด้วย

ตอนแรกไม่คาดคิดว่าจะได้รับรางวัล เนื่องจากงานของเราไม่เหมือนผู้เข้าแข่งขันอื่นๆ โดยเรานำเสนอเรื่องใกล้ตัว เนื้อหาเรียบง่าย แต่เราใช้กลยุทธ์การสร้างคาแรกเตอร์ของแหล่งให้น่าสนใจ มีการใช้เทคนิคการลำดับภาพ การแสดงศิลปะที่ใช้การนำเสนอ ใช้เสียงธรรมชาติ ทำให้งานของเรามีคุณค่าและมีพลัง น่าสนใจมากขึ้น ความรู้สึกของเรามิใช่เพียงเรื่องของรางวัล แต่สิ่งเหล่านี้คือ ประสบการณ์ที่มีค่า จากสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้นำมาใช้ในผลงานดังกล่าว รู้สึกดีใจ ภูมิใจ กับความตั้งใจและความพยายามของพวกเรา ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่มีหลักสูตรนี้ขึ้นมา ถึงแม้จะได้รับรางวัลก็ตาม พวกเราจะไม่หยุดแค่นี้ เราต้องพัฒนาและเรียนรู้อยู่เสมอ คำพูดจากคณะกรรมการที่ทำให้รู้สึกประทับใจและเกิดพลังใจ คือ “ไม่ว่าคุณทำอะไร เรารู้ว่าคุณกำลังทำอะไร และไม่ต้องกลัวว่าผลงานที่คุณทำจะแตกต่างไม่เหมือนคนอื่น แต่ความคิด และความตั้งใจ สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ของคุณ และคุณทำได้ดีขึ้น” น้องเก่ง กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น